- 06 เม.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th
5 จุดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใน ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร หรือบ้างก็เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, หลักเมือง เป็นอีกหนึ่งจุด ที่ประชาชนคนไทย มาสักการะกัน การไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ก็เพื่ออธิษฐานขอพระ เสริมหลักชัยให้ชีวิต นั่นเอง ตัวศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระแก้ว เดินข้ามฝั่งก็ถึง
ลำดับขั้นตอนการสักการะ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป
จุดที่ 2 องค์พระหลักเมืองจำลอง
จุดที่ 3 องค์พระหลักเมืององค์จริง
จุดที่ 4 หอเทพารักษ์ทั้ง 5
จุดที่ 5 เติมน้ำมันพระประจำวันเกิด และสะเดาะเคราะห์
ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ (Bangkok City Pillar Shrine)
เป็นศาลที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ร.1 ได้โปรดเกล้าให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เวลา 6.45 นาฬิกา การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่าพระราชพิธีนครฐานใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วย ไม้แก่นจันทน์ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมืองตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ ซึ่งเชื่อว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น
ปัจจุบันมีประชาชนจากทั่วทิศหลั่งไหลกันไปสักการะบูชา และไหว้เพื่อ เสริมสิริมงคลกับชีวิต ขอพรให้เป็นหลักชัยของชีวิต ให้มีหน้าที่การงานที่มั่นคงดังหลักชัย และขอพรให้สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือมาบนบาลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สมปรารถนา
สิ่งของหลักๆ ที่ใช้ไหว้พระศาลหลักเมืองก็คือ ธูป เทียน แผ่นทอง พวงมาลัย ดอกบัว และผ้าสี สำหรับผู้ที่บนบานสำเร็จมักจะจัดแสดงการรำแก้บนหรือลิเกแก้บน ซึ่งคณะลิเก หรือนางรำก็จะแสดงประจำอยู่ภายในบริเวณศาลหลักเมืองด้วย
หลักเมืองทำไมมี 2 เสา
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า “เสาหลักเมือง” ทรุดโทรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากพระองค์ทรงเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ จึงทรงแก้ไขดวงเมือง โดยทรงประกอบพิธีจารึกดวงพระชันษาพระนครลงบนแผ่นทองคำหนัก 1 บาท ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้สร้างศาลขึ้นใหม่ โดยก่อสร้างเป็นยอดปรางค์ตามอย่างศาลที่กรุงศรีอยุธยา จากนั้นบรรจุดวงพระชันษาพระนครไว้ที่ “เสาหลักเมือง” แล้วจัดให้มีการสมโภชฉลองด้วย
ด้วยเหตุนี้ภายในศาลหลักเมืองจึงมีเสาหลักเมืองอยู่ 2 ต้น โดยเสาต้นสูงคือครั้งรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว ส่วนเสาต้นที่สูงทอนลงมาเป็นเสาหลักเมืองครั้งรัชกาลที่ 4 นั่นเอง
เทพารักษ์ทั้ง ๕
- พระเสื้อเมือง มีหน้าที่คุ้มครองป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ คุมกำลังไพร่พลแสนยากร รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขปราศจากอริราชศัตรูมารุกรานไหว้หลักเมือง เสริมหลักชัยให้กับชีวิต
- พระทรงเมือง มีหน้าที่รักษาการปกครองและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ดูแลทุกข์สุขของประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขสวัสดี
- พระกาฬไชยศรี เป็นบริวารพระยมมีหน้าที่นำวิญญาณของมนุษย์ผู้ทำบาปไปสู่ยมโลก
- เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นบริวารพระยม มีหน้าที่จดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไปและอ่านประวัติผู้ตายเสนอพระยม
- เจ้าพ่อหอกลอง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นในแผ่นดิน เป็นต้นว่าคอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน เกิดอัคคีภัย หรือมีข้าศึกศัตรูมาประชิดพระนคร
การเดินทางไป ศาลหลักเมืองกทม.
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดเวลา 05.30 – 19.30 น. ทุกวัน
การเดินทางด้วยรถประจำทาง สาย 2, 3, 6,82, 59, 201, 91,60, 512, 25, 32, 33, 70, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ.3,6,82,59,201,91,60,512,2,25,32,33,70,203
ที่มา www.traveleatenjoy.com