- 19 เม.ย. 2560
นี่หรือ..ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎร!!?? ...ตัดสินประหารชีวิตพระราชโอรส รัชกาลที่ 5 ด้วยศาลพิเศษ!!ไม่ให้มีทนายความ!?
พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระนามเดิม พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2494) พระราชโอรสองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย
เมื่อครั้นพ.ศ. 2481ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ในกบฏพระยาทรงสุรเดช ทำให้พระองค์ถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง
จากบันทึกของพระโอรส หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเขียนถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น “เคราะห์กรรม” ของครอบครัวพระองค์ไว้ว่า
“...พ.ศ. 2482 ปีมหาอุบาทว์ ปีที่มี 9 เดือนเท่านั้น ใกล้เข้ามาแล้ว สองเดือนก่อนถึงวันที่ 1 เมษายน 2482 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแบบเก่าครั้งสุดท้าย เสด็จพ่อถูกตำรวจของรัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม จับในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับเจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน สองผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ลงชื่อในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ...
โดยพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจตั้งผู้พิพากษาของศาลพิเศษ ทั้งอำนาจตั้งอัยการประจำศาลผู้ทำหน้าที่เป็นโจทก์ (แต่จำเลยไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย) ศาลพิเศษนี้ผู้พิพากษาเป็นนายพลเพื่อนนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเดียวคือคดีที่เสด็จพ่อทรงติดร่างแหไปด้วย
นักกฎหมายทุกคนเห็นว่าเป็นการผิดหลักนิติธรรมที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีสภานิติบัญญัติ และอยู่ในภาวะปกติไม่มีสงครามหรือการจลาจลได้ออกกฎหมายพิเศษให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้ที่มีอำนาจตั้งโจทก์ ตั้งผู้ว่าคดี และตั้งผู้พิพากษาเองทั้งหมด เป็นเรื่องซึ่งทำให้คนไทยผู้ไม่ได้กระทำผิด เพียงแต่อาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายบางประการ
“...เรื่องมันเห็นได้ตามภูมิปัญญาของข้าพเจ้าว่า การถูกกยิงที่ท้องสนามหลวง และลอบวางยาพิษ(ถ้าเกิดขึ้นจริง) ได้ทำให้หลวงพิบูลสงครามหวั่นหวาด “ภัยมืด” มากขึ้น จนสุดที่จะทนทานได้ จึงจำเป็นต้องจัดการลงไปที่ตะเป็นการประกันความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ... ความสงสัยได้รวมอยู่ที่ความเคลื่อนไหวของพระยาทรงสุรเดช การคิดตั้งโรงเรียนรบที่เชียงใหม่นั้น ถูกสงสัยว่าเป็นแผนการของพระยาทรงฯ ที่จะยึดอำนาจการปกครอง พวกสหายและสานุศิษย์ของพระยาทรงสุรเดช อาทิ พระสิทธิเรืองเดชพล หลวงชำนาญยุทธศิลป หลวงรณสิทธิพิชัย ขุนคลี่ ฯลฯ …
โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศในคืนวันนั้นว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้ควบคุมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ที่สถานีรถไฟลำปางเพื่อนำส่งกรุงเทพฯ”
“ทำไมหนอรัฐบาลหลายรัฐบาลมาแล้วจึงไม่ยอมที่จะเข้าใจเลยว่า ฉันไม่มีความทะเยอทะยานในเรื่องอำนาจวาสนา ฉันต้องการอยู่ตามลำพังอย่างคนสามัญทั้งหลาย” พระดำรัสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ
โดยพิพากษาศาลพิเศษระบุว่า..
“…คดีเป็นอันฟังได้ว่า จำเลยทั้งหมดในดีนี้นอกจาก … ได้สบคบกันกระทำการประทุษร้ายเพื่อทำลายรัฐบาล มีความผิดฐานกบฏตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 101…
อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว จึงต้องพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่นายพลโท พระยาเทพหัสดินทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป จำเลยทำความดีมาก่อน ประกอบกับเมื่อได้ระลึกถึงเหตุผลที่ว่าๆ ไปแล้ว ควรได้รับความปรานี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 และมาตรา 37 (1) คงให้จำเลยทั้ง 3 นี้ ไว้ตลอดชีวิต…”
เมื่อถูกพิพากษาตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทฯ จึงถูกเชิญเสด็จไปกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง และยิ่งนำความเสียพระราชหฤทัยของสมเด็จพระพันวัสสามากยิ่งขึ้นเมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีพระราชโองการถอดฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด โดยให้ออกนามใหม่ว่า “นักโทษชายรังสิต”
ต่อมาภายหลังจากที่ "นักโทษชายรังสิต" ถูกกักขัง ณ เรือนจำกลางบางขวาง ในข้อหา "กบฏ" เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2482 ในที่สุดรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ตัดสินใจปล่อยท่านให้เป็นอิสระ และได้ทรงคืนสู่ฐานะ "พระบรมวงศ์" สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ได้ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นเถลิงราชย์สมบัติ ด้วยเหตุที่ทรงยังไม่บรรลุพระราชนิติภาวะ และต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พ.ศ. 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน พระราชทานยศพลเอกนายทหารพิเศษประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหากเล็กรักษาพระองค์ และเลื่อนพระอิสริยยศเป็น "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร" และยังคงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไปรักษาพระอาการประชวรยังต่างประเทศ และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2494 กรมพระชัยนาทฯ ได้สิ้นพระชนม์โดยปัจจุบันที่วังถนนวิทยุ ด้วยพระโรคหืดและโรคพระหทัยวาย ถือว่าเป็นราชโอรสองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีพระชนม์ยืนที่สุด สิริพระชนมายุได้ 65 ปี 4 เดือน
ทั้งนี้ศาลพิเศษ เป็นสัญลักษณ์แห่งความด่างพร้อยของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างหลักฐานและพยานเท็จมากมาย เพื่อให้บุคคลที่รัฐบาลสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์ได้รับโทษ