"บิ๊กฉัตร" ปล่อยให้ลุ้น !!  “ยุบ-ไม่ยุบ” กองทุนฟื้นฟูฯ ขอแก้หนี้ 3,000 ล้านก่อน จับตาคดีโดนบอร์ดบริหารฟ้องศาลปกครอง

"บิ๊กฉัตร" ปล่อยให้ลุ้น !! “ยุบ-ไม่ยุบ” กองทุนฟื้นฟูฯ ขอแก้หนี้ 3,000 ล้านก่อน จับตาคดีโดนบอร์ดบริหารฟ้องศาลปกครอง

เป็นการเปิดเผยท่าทีครั้งแรกของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  หลัง มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) โดยการปลดคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรวมทั้งเลขาธิการกองทุนฯให้พ้นจากตำแหน่ง ว่า ที่มาของคำสั่งเป็นเพราะความขัดแย้งใน กฟก.จนทำให้งานเดินไม่ได้ !!

 ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย ซึ่งนั่งเป็นบอร์ด กฟก.อยู่ด้วยนั้น มีความอึดอัดกับการทำงานของกองทุนฟื้นฟูฯมาโดยตลอด แต่ฟางเส้นสุดท้าย ก็คือ กรณีโดนบอร์ดบริหารนำโดย ทรงยศ โรจนวีระ  ประธานบอร์ด และกรรมการคือ  สุนทร รักษรงค์ สำเริง ปานชาติ ทวิช ภารัตนวงศ์ และผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ฟ้องบอร์ดใหญ่ชุดพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธานฯ ต่อศาลปกครอง ว่าก้าวล่วงอำนาจบอร์ดบริหารกรณี ไม่ผ่านการประเมินผลงานเลขาธิการฯ ซึ่งลึกๆก็คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบอร์ดบริหารกับเลขาธิการฯ “วัชระพันธ์ จันทรขจร”

ความจริงประเด็นนี้ ที่บานปลายไปสู่การขึ้นโรงขึ้นศาล ก็อาจเป็นเพราะความพยายามประนีประนอมของ พล.อ.อ.ประจิน ที่พยายามจะประคับประคองเพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้า โดยสั่งให้ตั้งอนุกรรมการสอบสวนภายใน 30 วัน และในระหว่างสอบสวนก็ให้คู่ขัดแย้ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” เพื่อรอผลสอบ แต่ก็ปรากฏว่า ท่าทีนี้เข้าทำนอง “สามัคคีทุกฝ่ายทำลายตัวเอง”

 นี่อาจเป็นสาเหตุที่ คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดใหม่  จึงไม่มีชื่อของพล.อ.อ.ประจิน ซึ่งน่าจะเกิดอาการเซ็ง ขอไม่ยุ่งเกี่ยว ปล่อยให้ พล.อ.ฉัตรชัย ซึ่งมีสไตล์การทำงานเข้มและฟันธง

 สรุปก็คือ แม้จะยุบ3บอร์ดของกองทุนฟื้นฟูฯไปแล้ว แต่ปัญหาค้ำคออยู่ก็ยังเป็นคดีความที่ศาลปกครอง ซึ่งพล.อ.อ.ประจิน และพล.อ.ฉัตรชัย ก็ยังต้องโดนพ่วงหางเลขกับบอร์ดคนอื่นๆไปด้วย

 สำหรับภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าก็อย่างที่ “ทีนิวส์” นำเสนอข่าวไปว่า เป็นภารกิจในการล้วงเอางบ 3,000 ล้านบาทมาแก้ปัญหาหนี้เร่งด่วน โดย พล.อ.ฉัตรชัยจะเรียกประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจให้ครบ รวมทั้งเลือกรองเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯคนใดคนหนึ่งมาทำหน้าที่เลขาธิการกองทุนฟื้นฟู ซึ่งก็น่าจะไม่พลิกโผ เพราะ สมยศ  ภิราญคำ เป็นรองอาวุโสอันดับหนึ่งและปัจจุบันก็รักษาการตำแหน่งเลขาธิการฯอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการอีกคนหนึ่ง ก็จะติดโผมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการเฉพาะกิจ ตามคำสั่ง คสช. ด้วย

ซึ่งที่น่าจะจับตาต่อก็คือ ภายใต้กรอบระยะเวลา 180 วัน และหากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้น ยังขยายเวลาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้นั้น จะมีการใช้กระบองอาญาสิทธิกับกองทุนฟื้นฟูฯอีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะข้อเสนอให้ “ยุบ” กองทุนฟื้นฟูฯแล้วเอาภารกิจในการฟื้นฟูเกษตรกร ไปบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ

          “ผมยังไม่มีคำตอบว่าการออกคำสั่งของ คสช.ครั้งนี้ จะนำไปสู่การยุบหน่วยงานกองทุนฟื้นฟูฯตามที่มีหลายฝ่ายได้เคยเสนอมาหรือไม่ เพราะคงต้องเข้าไปดูในรายละเอียด” พล.อ.ฉัตรชัย บอก

 พล.อ.ฉัตรชัย แสดงท่าทีนี้ ก็เพื่อให้กลไกการบริหารของสำนักงานกฟก.เดินหน้าภารกิจ เพราะถ้าจะให้พูดชัดๆว่าอีก 6 เดือนจะเสนอยุบกองทุนฟื้นฟูฯนั้นก็ แน่นอนว่า จะไม่มีใครมีกระจิตกระใจทำงาน 

แต่ถามว่า ในอีก 6 เดือน พล.อ.ฉัตรชัยจะคงท่าทีนี้เหมือนเดิมหรือไม่ อย่าลืมว่าโครงสร้างของคณะกรรมการเฉพาะกิจล้วนแต่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ที่แน่นอนย่อมถือระเบียบและกฏหมายเคร่งครัดเข้มงวดซึ่งหลายครั้งเป็นอุปสรรคต่องานพัฒนา อย่าลืมว่าคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลปกครองอาจทำให้เกิดความหงุดหงิดในอารมณ์ ดังนั้นคำตอบก็ย่อมอยู่ที่การแสดงผลงานและศักยภาพของสำนักงาน กฟก.รวมถึงพลังความเข็มแข็งและตัวตนของขบวนเกษตรกรที่แท้จริง ว่า จะเป็นเงื่อนไขให้คณะกรรมการเฉพาะกิจนำมาเป็นเหตุผลในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่