- 27 พ.ค. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จัดโครงการจัดทำมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เพื่อสร้างมาตรฐาน ปรับกลยุทธ์ ให้ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ สู่ระดับสากล ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จัดทำโครงการประชุมชี้แจงการจัดทำระบบมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GIS ข้าวหอมมะลิสุรินทร์
โดยมี นางสาวดวงพร บุญครบ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในการเปิดโครงการ โดยนำวิทยากรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาให้ความรู้ถึงที่มาและความจำเป็นของมาตรฐาน GI รวมทั้งกลุ่มงานวิจัยโครงการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ซึ่งรับหน้าที่ประสานความร่วมมือ ดูแล จัดทำมาตรฐาน GI ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ มาให้ความรู้และขั้นตอนการดำเนินงานแก่ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ เกษตรกร ที่เข้าร่วมประชุมชี้แจงในการสร้างมาตรฐานด้วย สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI หมายถึงสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีลักษณะพิเศษสามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ไหน ทำให้สินค้านั้นมีคุณภาพ มีชื่อเสียง มีคุณลักษณะพิเศษต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันในท้องถิ่นอื่น ปัจจัยที่ทำให้สินค้าแตกต่างกันคือ ปัจจัยทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ระบบการผลิตเอกลักษณ์ที่ผู้ผลิตผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและประเพณีวัฒนธรรมจึงทำให้สินค้ามีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ ตราสัญลักษณ์ GI สามารถการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือให้สินค้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์สร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อเพราะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า ดังนั้นเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อรับรองถึงแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า GI ให้สังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ GI บนถุงบรรจุสินค้าซึ่งออกแบบโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุดของประเทศ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 3.2 ล้านไร่ และเป็นข้าวหอมมะลิที่มีสายพันธุ์ค่อนข้างบริสุทธิ์ เพราะมีปลูกข้าวพันธุ์อื่นประมาณร้อยละ 0.3 และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2550 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้า GI ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ขึ้นทะเบียนให้ข้าวหอมมะลิสุรินทร์เป็นสินค้า GI ตามคำขอของจังหวัด ทำให้ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ถึง 2 รายการ คือ GI ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม) 575,993 ไร่ และ GI ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ทั้งจังหวัดประมาณ 3.2 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศไทยมีข้าวที่ขึ้นทะเบียน GI จำนวน 9 ชนิดเท่านั้น
นายสุพจน์ แสงชัย พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ความสำคัญของมาตรฐานบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้า GI กระบวนการผลิต แหล่งที่มาของข้าว ให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานสินค้า ตามที่ได้ขึ้นทะเบียน และตามข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้า GI ที่ยอมรับได้ในระดับสากล เพื่อที่จะส่งขายไปยังยังต่างประเทศได้ แต่ก็ต้องสร้างความมั่นใจต่อมาตรฐาน GI ของประเทศนั้นๆ ซึ่งข่าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องให้ก็ได้รับในระดับสากลแล้ว เพราะสามารถตรวจสอบย้อนหลังกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกข้าวการใส่ปุ๋ย การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว กลางน้ำ คือ การสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร การเก็บรักษา การบรรจุภัณฑ์ จนถึงปลายน้ำ คือ การจำหน่าย การขนส่ง และการส่งออก ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ของเกษตรกรผู้ผลิตข้าวและผู้ประกอบการ คือ ผู้รวบรวมข้าวเปลือก โรงสีข้าว ผู้จำหน่าย และ ผู้ขนส่งข้าว GI จึงต้องจัดทำระบบการตรวจสอบควบคุมภายในมาตรฐานสินค้า GI ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ขึ้น ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์เป็นผู้จัดทำระบบดังกล่าว เพื่อให้ผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
ผศ.ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดี ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่เกษตรกรชาวจังหวัดสุรินทร์โดยตรง ซึ่งมหาวิทยาลัยก็มีคณะอาจารย์ บุคลากร ที่ทำงานด้านนี้สามารถจะมาเป็นพี่เลี้ยงในการที่จะดำเนินการแนะแนวการปฏิบัติในการควบคุมคุณภาพของข้าวสินค้า GI ของจังหวัดสุรินทร์ เพราะว่าสินค้า GI นี้จะเป็น ประโยชน์กับท้องถิ่น หรือเจ้าของทรัพยากรตัวจริงที่อยู่ในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดโดยตรง มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานทางวิชาการ ที่ได้รับการยอมรับทางมีวิชาการยินดีที่จะเป็นผู้ดำเนินงานให้ได้อย่างต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด
// รมิตา สิงหเสรี ผู้สื่อข่าวภูมิภาคสำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดสุรินทร์