- 14 ก.ค. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่ห้องประชุมโรงแรมทินีดี อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อแนะนำและชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก
สำหรับการจัดประชุมในวันนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านนโยบายและแผนของกระทรวงคมนาคม จึงได้จัดให้มีการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ในการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้และเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าด้วยระบบรถไฟ (Feeder Line) จากพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของจังหวัดต่างๆ เข้ากับโครงข่ายหลักของประเทศ โดยได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอเชียนเอ็นจิเนียริง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินฟรา พลัส คอนซัลติง จำกัด และ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นทีปรึกษาดำเนินโครงการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
โดยโครงการพัฒนาและขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดชุมพร-จังหวัดระนอง เชื่อมโยงอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน มีระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร มีพื้นที่ศึกษาโครงการ ครอบคลุมบริเวณแนวเส้นทางเลือกของโครงการเบื้องต้น 4 แนวเส้นทาง และบริเวณใกล้เคียงอาจได้รับผลกระทบในเขตปกครอง 2 จังหวัด คือ จังหวัดชุมพร ผ่านท้องที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอหลังสวน อำเภอท่าแซะ อำเภอทุ่งตะโก และอำเภอพะโต๊ะ ส่วนจังหวัดระนอง ผ่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง อำเภอละอุ่น และอำเภอกระบุรี ซึ่งการกำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการเบื้องต้นได้พิจารณาแนวเส้นทางจากผลการศึกษาเดิมตามแผนแม่บท และจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ในภาคสนาม รวมทั้งการศึกษาสภาพภูมิประเทศของทั้งจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง ประกอบกับการพิจารณาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันการติดต่อคมนาคมทางรถยนต์ มีถนนสายหลักที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและระนอง 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่าน อ. กระบุรี และทางหลวงหมายเลข 4006 ซึ่งผ่าน อ.พะโต๊ะ ส่วนสายย่อย 1 เส้นทาง ได้แก่ทางหลวงหมายเลข 4139 พาดผ่านผ่าน อ.เขาทะลุ ดังนั้นจึงได้แบ่งพื้นที่ศึกษา (Corridor)ออกเป็น 3 ส่วนตามแนวเส้นทางดังกล่าว เพื่อการสำรวจและออกแบบให้ครอบคลุมพื้นที่ต่อไป
ภาพ/ข่าว อุดมศักดิ์ มณีศรี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.ระนอง