- 20 เม.ย. 2564
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยถึงประเด็นการเยียวยาโควิดระลอกใหม่ โดย กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลประชาชนเพิ่มเติมในช่วงใด
วันนี้ (20/4/2564) น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ว่าจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาดูแลประชาชนเพิ่มเติมในช่วงใด เนื่องจากขณะนี้ ยังมีมาตรการเราชนะ ซึ่งยังเหลือเม็ดเงินรอการเบิกจ่ายอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการ ม.33 เรารักกัน ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งยังเบิกจ่ายเงินไม่หมด ยังเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจในช่วง เดือน พ.ค. แต่อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง กระทรวงการคลังก็พร้อมที่จะพิจารณามาตราการต่าง ๆ ออกมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยังคงเหลืองบประมาณในการดูแลสถานการณ์โควิดอีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก
- พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท
- งบกลางของปีงบประมาณ 2564 ภายใต้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 99,000 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้ไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท
- และค่าใช้จ่ายในการบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท โดยใช้ไปแล้วประมาณ 3,200 ล้านบาท
น.ส.กุลยา บอกด้วยว่า วันที่ 28 เม.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 รอบใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% และเริ่มมีสัญญาณเป็นบวก แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วน ทำให้กระทรวงการคลังต้องมาปรับสมมติฐานการขยายตัวใหม่ โดยจากสถานการณ์ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ถึง 3% ค่อนข้างยาก แต่ก็ขอพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีปัจจัยบวกใดบ้างมาสนับสนุนการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี
ขอบคุณข้อมูลจาก ThaiNews