- 07 ต.ค. 2560
ทีนิวส์ลงพื้นที่แปลงนาเลข ๙ กลางท้องสนามหลวง ถือเป็นภูมิสถาปัตยกรรมประกอบพระเมรุมาศ ที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรในหลวงรัชกาลที่ ๙
แปลงนาเลข ๙ กลางท้องสนามหลวง ถือเป็นภูมิสถาปัตยกรรมประกอบพระเมรุมาศ ที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว และความเป็นอยู่ของชาวนา ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
แปลงนาข้าวเลข 9 สนามหลวงกรมศิลปากร ออกแบบแปลงนาข้าวพื้นที่ 1 ไร่ ไว้ด้านหน้าพระเมรุมาศ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากวังสวนจิตรลดา สถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์
โดยนางวิชชุดา รัตนากาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอารักขาข้าว กรมการข้าว ได้เปิดเผยกับทีมข่าวเจอดี(สำนักข่าวทีนิวส์) ว่าทางกรมการข้าวจัดหาพันธุ์ข้าวลงแปลง แบ่งเป็น 3 ระดับ 3 พันธุ์
เริ่มตั้งแต่ต้นกล้า อยู่ชั้นล่างสุดเลือกใช้พันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี นิยมปลูกในพื้นที่ภาคกลาง
ระยะแตกกอ เลือกใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งนิยมปลูกในภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะทนความแห้งแล้ง ให้กลิ่นหอมดอกมะลิอ่อนๆ
และข้าวแปลงบนสุด คือ "พันธุ์ กข 31" หรือปทุมธานี 80 พร้อมออกรวงสีเหลืองทอง ช่วงพระราชพิธีฯ
ขณะที่"ฝายน้ำล้น" เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในผืนดิน และเก็บกักไว้อุปโภคบริโภค ใช้ต้นทุนน้อย เพียงลำไม้ไผ่และก้อนหิน เหมาะกับพื้นที่ชนบทและต้นน้ำ
"กังหันน้ำชัยพัฒนา"สิ่งประดิษฐ์บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ หรือออกซิเจน ได้รับการจนสิทธิบัตร เมื่อปี 2536 ถือเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยครั้งแรกของโลก และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากเบลเยียม หรือออกซิเจน
ทั้ง 2 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถูกจัดวางใน "แปลงนาเลข ๙"อย่างลงตัว สะท้อนพระอัจฉริยภาพด้านการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงการเกษตร
แปลงนาเลข ๙ จะจัดแสดงไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ประชาชนเยี่ยมชมความงดงาม หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรมการข้าว
จึงเตรียมสำรองต้นข้าวช่วงอายุต่างๆ นำมาสับเปลี่ยนหมุนเวียน พร้อมติดตั้งป้ายข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้โครงการของ"กษัตริย์นักพัฒนาเพื่อเกษตรไทย"