ช้าๆชัดๆ จำนำข้าวเจ๊งเท่าไร!!!   TDRI   เคาะตัวเลขถึงพ.ค. 59  เสียหายยับ 5.8  แสนล้าน   แถมเหลือค้างบานเบอะอีก 9.7 ล้านตัน !!?!!

ติดตามรายละเอียด deep.tnews.co.th

     สืบเนื่องจากผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงปี   2554- 2557    และนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีอาญาแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร   และรัฐมนตรี    รวมถึงบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง     ขณะเดียวกันยังมีการดำเนินการออกหนังสือคำสั่งทางปกครอง  เพื่อบังคับให้มีการชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด      ล่าสุด   สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  โดย   ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร  นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ   ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)   ได้แสดงผลการศึกษา “โครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ”  เพื่อศึกษาว่า “ระบายข้าวอย่างไรจึงขาดทุนและกระทบชาวนาน้อยที่สุด และไม่เกิดปัญหาข้าวเสียปนกับข้าวบริโภค”  มีสาระสำคัญดังปรากฏเป็นรายละเอียด ดังนี้

 

     “  จากข้อมูลของหน่วยราชการระบุว่า  ประเทศเหลือปริมาณข้าวคงคลังตามบัญชี 18.7 ล้านตัน   แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 กลับพบว่ามีข้าวในสต็อกจริงเพียง 17.28 ล้านตัน  โดยระหว่าง ส.ค. 2557 -มิ.ย. 2559 มีการระบายข้าวไปแล้ว 7.5 ล้านตัน มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท  ส่วนใหญ่กว่า 86% ใช้วิธีประมูลเพื่อบริโภคในประเทศ   ส่วนการขายแบบรัฐต่อรัฐ (GtoG) เป็นข้าวใหม่โดยรัฐบาลผู้ซื้อเจรจากับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยโดยตรง โดยราคาขายข้าวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่ำกว่าราคาตลาด 2,664 บาทต่อตัน หรือ 20%

 

     เปรียบเทียบกับการระบายข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างเดือน ต.ค. 2554-ก.ย. 2557 ปริมาณ 18.7 ล้านตัน  มูลค่า 2.3 แสนล้านบาท  จากปริมาณรับจำนวนข้าวจำนวน 33.5 ล้านตัน  ส่วนใหญ่ กว่า 71% เป็นการขายแบบ G to G ปลอมและขายข้าวให้พรรคพวกในราคาต่ำเป็นพิเศษ   โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์  ขายต่ำกว่าราคาตลาดถึง 5,082 บาทต่อตัน หรือ 29% 

     ขณะที่ผลการศึกษาพบว่าวิธีประมูลแบบโปร่งใสจะทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนสูงสุด แต่วิธี GtoG   ปลอมและไม่เปิดเผยข้อมูลจะทำให้รัฐขาดทุนมากที่สุด  แต่สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขายข้าวได้ราคาดีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะเน้นระบายข้าวเกรดดี (PAB) ทำให้ราคาขายต่ำกว่าตลาดไม่มากนัก  โดยปัจจุบันเหลือข้าวรอการระบายอีก 9.7 ล้านตัน ซึ่งควรระบายให้หมดภายใน 24 เดือนตามที่ตั้งเป้าหมายเพื่อทำให้ตลาดค้าข้าวในประเทศกลับสู่ภาวะปกติและลดความเสียหาย

 

     ส่วนการคำนวณผลขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยข้อมูลใหม่ พบว่าผลขาดทุนถึงเดือน    พ.ค. 2557 เพิ่มเป็น 5.49 แสนล้านบาท จากการคำนวณเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 5.428 ล้านบาท  แต่ หากคำนวณราคาข้าวเมื่อเดือน      พ.ค. 2559  ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 5.8  แสนล้านบาท  และถ้าหากระบายข้าวช้าไป 1 ปี ความเสียหาย จะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 18,300 ล้านบาทหรือ ตันละ 1,570 ล้านบาทต่อปี จากค่าบำรุงรักษาและดอกเบี้ย

 

     อย่างไรก็ตาม ข้าวในสต็อกกว่าครึ่งในปัจจุบันหรือราว 4-5 ล้านตัน เป็นข้าวคุณภาพต่ำ (ข้าวเกรด C) และเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำมาก เช่น มีอายุมากกว่า 5 ปี หรือเป็นปลายข้าว จึงไม่เหมาะต่อการบริโภค แต่ควรนำไปผลิตเป็นเอทานอล ชีวมวล หรืออาหารสัตว์มากกว่าและการระบายข้าวคงไม่ได้ราคาดีเช่นเดิม เพราะมีข้าวเกรดซีปะปนเกรดอื่นๆ ในรูปแบบยกคลัง แต่ปัญหาด้านกฎระเบียบและบุคลากรทำให้การระบายข้าวมีข้อจำกัด

 

     ทีดีอาร์ไอจึงเสนอให้รัฐบาลตรวจสต็อกข้าวอีกครั้ง ก่อนเร่งระบายข้าวเกรด C โดยเฉพาะ เนื่องจากต้องขายแบบขาดทุนทำให้เจ้าหน้าที่ถูกโจมตีเรื่องราคาและถ้านำไปเผาเป็นชีวมวลก็ถูกโจมตีเรื่องทำลายทรัพย์สินของแผ่นดิน

 

     “เราเหลือข้าวในสต็อก 9.7 ล้านตันและยังมีผลผลิตออกมาทุกปี ถ้าใช้วิธีปกติก็อาจยากที่จะระบายให้หมดภายใน 2 ปี เพราะ ปีนึงเราส่งออกราว 9-10 ล้านตันและบริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตัน แต่ถ้าเร่งระบายข้าวคุณภาพต่ำออกไปครึ่งหนึ่ง การระบายข้าวที่เหลือก็อยู่ในวิสัย”

     อย่างไรก็ตามแม้ว่าการระบายข้าวคุณภาพแย่มาก จะไม่สามารถคาดหวังด้านราคาได้ แต่ถ้าขายหมดก็ถือเป็นการปลดภาระขาดทุน พร้อมเกิดรายรับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถ้าเก็บข้าวส่วนนี้ไว้ราคาก็จะลดลงเหลือน้อยมาก

 

     นอกจากนี้ผลการศึกษายังมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรระบายข้าวแบบสม่ำเสมอทุกๆ เดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพราะจะขาดทุนน้อยกว่าขายเป็นช่วงๆ และลดการเก็งกำไรได้ และต้องเร่งระบายในช่วง 2-3 ปีนี้ เพราะหลังจากนั้นข้าวจะเสื่อมคุณภาพลงมาก โดยเฉพาะการลดราคาข้าวเสื่อมสภาพต้องเร่งขายให้เร็วที่สุด

 

    ประการสำคัญหากไม่จำเป็นไม่ควรขายข้าวทั้งโกดังเป็นเกรดอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอลเพราะจะขาดทุนมาก ยกเว้นกรณีที่เป็นข้าวเกรด C ที่มีมาตรฐานต่ำกว่าการบริโภคมาก โดยควรสำรวจโกดังข้าวที่มีอายุเกิน 5-6 ปี หากกลายเป็นฝุ่นหรือเน่าเสียก็ควรนำมาปรับสภาพและลดราคาเพื่อขายออกโดยเร็ว แต่การระบายข้าวขาวจะทำให้ราคาลดลงเล็กน้อย แต่ไม่มีผลกระทบต่อราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว

 

    ขณะเดียวกันควรแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการให้ครอบคลุมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการระบายข้าวรัฐบาล พร้อมบทลงโทษเจ้าหน้าที่ปิดบังข้อมูล เพราะค่าเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท มาจากภาษีของประชาชน

 

    นอกจากนี้ข้อสรุปสุดท้าย  มีข้อบ่งชี้ว่าผลเสียหายของโครงการจำนำข้าวได้ให้บทเรียนว่า รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิดแล้วนำมาเก็บไว้ในสต็อกโดยเด็ดขาย เพราะกฎระเบียบของรัฐไม่เอื้ออำนวยต่อการขายข้าว รัฐบาลจะขาดทุนมหาศาลจากค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าตัดสินใจระบายข้าวหากราคาลดลงส่งผลให้ข้าวมีโอกาสเสื่อมมากขึ้น