ฉีกบัตรไม่ผิด!!  อื้อหือ แนวคิดสุดโต่ง ? นักวิชาการ มช. ชี้แค่"สัญญลักษณ์-อารยะขัดขืน"

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

วันนี้ (8 ส.ค.) นาย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊กแสดงความเห็นกรณีการฉีกบัตรลงประชามติประท้วง "ว่าด้วยเรื่อง ฉีกบัตร"  ระบุว่า การฉีกบัตรคือวิธีการออกเสียงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมในแนวทาง Civil Disobedience นั้นไม่ควรผิดกฎหมาย และไม่ควรต้องโทษทางอาญา แต่ก็มีนักกฎหมายสายประชาธิปไตย เข้ามาแขวะ มาด่า เพราะติดภาพ อ.ไชยันต์ ฉีกบัตร ทั้งที่ตอน อ.ไชยันต์ฉีกบัตรต้านการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ก็เป็นที่ยอมรับของขบวนการต้านการเลือกตั้ง ไม่ฟรี ไม่แฟร์ ในเวลานั้นเป็นอย่างมาก
        
 ครับ พอตอนนี้ โตโต้ กระทำการฉีกบัตรเพื่อปักหมุดทางประวัติศาสตร์ พวกท่านจะว่าอย่างไร นี่ไงครับ ความสำคัญของ Freedom of Expression และ Human Rights ที่ต้องเดินไปคู่กับระบอบประชาธิปไตยเสมอ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ผู้มีอำนาจใช้ทรัพยากรและอำนาจที่ตนมี มาบิดเบือนผลการออกคะแนนไปโดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

เอ้า…ตอบแบบนักกฎหมายด้วยก็ได้ ความผิดทำลายบัตรลงคะแนน ตาม ม.59 ของ พ.ร.บ.ประชามติ เนี่ย ก็เป็นกฎหมายลำดับศักดิ์เดียวกับ กฎหมายที่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก อย่าง พรบ.อนุวัติการกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) นะครับ หากมีคดีที่ต้องตีความ กติกาบอกว่าต้องไม่ตีความไปในทางที่จำกัดสิทธิ
        
 ยิ่งถ้ามองว่า รัฐธรรมนูญประกันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ก็ย่อมอยู่เหนือ พ.ร.บ.กำหนดความผิด ที่เป็นกฎหมายลำดับต่ำกว่า แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ จะไม่ได้รับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้อย่างชัดแจ้งแบบ รธน.2540 (ที่มีผลบังคับใช้ในตอนคดี อ.ไชยันต์) แต่ก็รับรองสิทธิเสรีภาพและย่อมหมายรวมถึงสิทธิตาม พรบ.อนุวัติการ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคีนั่นเอง

เข้าใจว่าคดีฉีกบัตร ของ อ.ไชยันต์ ศาลชั้นต้นยกฟ้อง และเคยออกเป็นธงคำตอบวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ในการสอบเนติบัณฑิต ด้วย แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาเป็นลงโทษ ? และศาลฎีกากำลังจะตัดสินคดีในอีกไม่นาน ?
        
 เอาล่ะครับ ที่พูดมาทั้งหมดนี้ จะบอกกับคนที่รักประชาธิปไตย เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนว่า เราต้องยึดมั่นในหลักการ วินิจฉัย “การกระทำ” ไม่ติดกับดัก “บุคคล” และการเมืองแบบ “เลือกข้าง” มิเช่นนั้น มันจะกลายเป็น “บ่วงบาศพิฆาตตัวเอง” ทั้งนี้ บทความวิชาการที่เสนอให้ กปปส. อย่าไปปิดขวางคูหาเพราะละเมิดสิทธิคนอื่น แต่ถ้าจะต่อต้านการเลือกตั้งให้ไปฉีกบัตร ครับ ทศพล ยังมีจุดยืนเดิม และจะเดินไปในเส้นทางนี้ “สิทธิมนุษยชน”