เดดไลน์..ระทึก!!! ศาลฎีกาฯสั่งทนายยิ่งลักษณ์สืบพยานคดีทุจริตข้าวให้แล้วเสร็จใน 21ก.ค.60 ออกหมายเรียก"หม่อมเต่านา"สอบคุกคามอัยการละเมิดอำนาจศาล?

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

คืบหน้าไปตามลำดับสำหรับการไต่สวนคดีทุจริตรับจำนำข้าว    โดยวันนี้  ( 9  ธ.ค.)  ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ   นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา   เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ได้ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 7 คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 49 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

        

ทั้งนี้ทนายฝ่ายจำเลยได้นำนายพันศักดิ์  วิญญรัตน์   อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจ  ขึ้นเบิกความตอบคำถามอัยการ  มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า   ตนไม่ทราบเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าวและไม่ทราบถึงการซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง   แต่เห็นว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหว มีแรงกระเพื่อม ไม่ว่าเงินที่นำมาใช้นั้นจะเป็นในส่วนใดผลก็คือก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภค ส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้รักษาระดับการจ้างงานคงอยู่ การดำเนินโครงการสาธารณะเปรียบเหมือนการนำเงินของประชาชนเอาไปให้ประชาชน โดยผลสุดท้ายเงินก็จะย้อนกลับสู่รัฐในรูปของภาษี

         

“การใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการนี้มีเหตุผล จะคงไว้ซึ่งความสงบของบ้านเมืองและความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีการระบุรายได้ย้อนกลับมาเท่าใด แต่ความมั่นคงทางบัญชีและความสงบของบ้านเมืองจะส่งผลกลับมาที่ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในบริบทโลกที่ผันผวนในขณะนั้น ซึ่งประเทศไทยได้พึ่งพิงการส่งออกกว่าร้อยละ 70 สิ่งสำคัญคือต้องทำให้อัตราการเติบโตภายในประเทศที่เหลือมีความนิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การอัดฉีดหรือกู้เงินเพื่อสร้างเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ โครงการจำนำข้าวเป็นการนำเงินเข้าสู่ในระบบและหิ้วระบบไว้ไม่ให้ล้ม”

 

ในตอนท้าย  นายพันศักดิ์ระบุว่า โครงการจำนำข้าวเป็นภาระที่ควรจะมี และรัฐบาลควรจะบริหารภาระเพื่อประชาชน

ทางด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)   ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถึงประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)  ครั้งที่ 3/2558 ในวันที่ 18 พ.ค. 2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ที่มีการระบุถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน นบข. ได้สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาส่งฟ้องในเดือน ก.พ. 2559 โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นความยุติธรรม

         

อย่างไรก็ตามนายเรืองไกร เบิกความว่า ตนได้ข้อมูลมาจากการค้นหาผ่านเว็บไซต์กูเกิ้ล ซึ่งมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงขออนุญาตอ่านเอกสารฉบับเต็มดังกล่าวเพื่อเบิกความในประเด็นได้อย่างถูกต้อง  โดยองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำเอกสารเกี่ยวกับการประชุม นบข. ดังกล่าวให้พยานจำเลยอ่านและอนุญาตให้ทำคำเบิกความมายื่นในภายหลังได้ พร้อมกำชับให้ทนายจำเลยบริหารจัดการพยานเพื่อนำมาเบิกความต่อศาลให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 21 ก.ค. 2560   เพราะตามระบบราชการศาลไม่อาจเลื่อนการพิจารณาออกไปไกลกว่านี้ได้อีกแล้ว  และภายหลังเบิกความเสร็จศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปอีกครั้ง ในวัน 14 ธ.ค. นี้ เวลา 09.30 น.

ทางด้าน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง   ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า ในวันนี้ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งในคำร้องที่พนักงานอัยการโจทก์ ยื่นคำร้องกรณีถูกคุกคาม โดยองค์คณะได้มีคำสั่งให้ตั้งสำนวนไต่สวนละเมิดอำนาจศาล โดยให้มีองค์คณะ 3 คน เป็นผู้ไต่สวน พร้อมทั้งออกหมายเรียก มล.มิ่งมงคล โสณกุล และผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งราย ซึ่งตนจำชื่อสกุลไม่ได้ เพื่อมาไต่สวนต่อไป

 

เรียบเรียงข่าว :  ชัชรินทร์  สำนักข่าวทีนิวส์