- 04 พ.ย. 2560
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นวันลอยกระทง และเป็นประจำทุกปีหลังพ้นงานลอยกระทง สิ่งที่ปรากฏในเช้าวันรุ่งขึ้นคือ กระทงจำนวนมากกลายเป็นขยะที่ต้องจัดการรวมถึงขยะอื่นที่นักท่องเที่ยวร่วมงานทิ้งไว้
ช่วงเช้าที่บริเวณท่าเรือใต้ทางด่วน ถนนประดิษฐ์มนูธรรม พบว่ามีปริมาณกระทง ที่ประชาชนมาลอยในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา กว่า 20,000 กระทง ลอยมาติดตะข่ายของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ที่ล้อมเอาไว้รอนำไปเข้าสู่กระบวนการกำจัด
อย่างไรก็ตามตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดกว่า 202 คน เรือเก็บขยะติดไฟส่องสว่างกว่า 31 ลำ เรือกำจัดขยะและวัชพืชสำหรับบดอัดกระทงให้มีขนาดเล็กลงจำนวน 3 ลำ คอยเก็บกระทงบนผิวน้ำ ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 ไปจนถึงวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร
โดยกระทงที่เก็บได้จะเข้าสู่กระบวนการแยกประเภทและนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ ก่อนที่กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และย่อยสลายง่ายจะถูกส่งไปเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกระทงโฟมจะถูกนำไปฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้ร่วมกันจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเพื่อขอขมาพระแม่คงคาในเทศกาลลอยกระทงเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการจัดงานลอยกระทงในหลายจุด ซึ่งได้ระดมเจ้าหน้าที่เริ่มดำเนินการเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่างๆ และสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 4 พ.ย. รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 811,945 ใบ กระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 760,019 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93.6 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 51,926 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.4
ซึ่งถือว่า คนกรุงใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพราะพบส่วนใหญ่ลอยกระทง ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และย่อยสลายได้ 760,019 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93.6 จากตัวเลขการจัดเก็บ 811,945 ใบ มีกระทงโฟมและอื่นๆ 51,926 ใบ หรือร้อยละ 6.4