- 01 ธ.ค. 2560
คลายความสงสัย!! เพราะเหตุใด "เสาหลักเมือง" กรุงเทพมหานคร จึงมีสองต้น!! (รายละเอียด)
บทความนี้ผู้เขียนจะนำท่านผู้ชมย้อนกลับไปเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีนั้น พระองค์ได้โปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมืองเพื่อเป็นหลักชัยอัน สำคัญ พระฤกษ์ยกเสาหลักเมืองกระทำในวันอาทิตย์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06:54 น.
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระราชดำริว่าหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่ได้ซ่อมแซมมาหลายรัชกาล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ อีกทั้งทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพฯ จึงทรงแก้เคล็ดโดยโปรดให้ช่างแปลงรูปศาลหลักเมืองเสียใหม่ให้เป็นรูปปรางค์ และโปรดให้ถอนเสาหลักเมืองเดิมและประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่พร้อมบรรจุชะตา พระนครให้มีสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีอุดมมงคลฤกษ์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 เวลา 04:48 น.
การ ฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก 4 ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง 4 ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนายชะตาเมืองว่า จะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์ ทั้งยังทรงทำนายว่า จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา 150 ปี
ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงที่ไทยติดพันศึกพม่าจนถึงศึกเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดการพันตูหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี
การ เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น เจ้านายที่ทรงความสำคัญรวม 4 พระองค์ที่ทรงบังคับบัญชากิจสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินทร ทั้ง 4 พระองค์นี้มีพระราชสมภพและพระราชประสูติปีเดียวกันคือปีมะเส็ง (งูเล็ก) ต่างกันเพียงรอบปีพระราชสมภพกับพระประสูติ ทั้งสี่พระองค์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นอย่างยิ่ง นิมิตงูเล็กในเสาหลักเมืองจึงออกจะเป็นเรื่องอัศจรรย์
กรณี คำทำนายการดำรงวงศ์กษัตริย์เป็นเวลา 150 ปี ไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพียงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข กรณีนี้โหราจารย์ให้ความเห็นว่า คงเนื่องด้วยพระบารมีของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ถอนเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่
ด้วย เหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระหลักเมืองจึงมีสองต้น เสาเดิมครั้งรัชกาลที่ 1 คือต้นสูง ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้ จึงคงไว้ แกนในเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้จันทน์ประดับนอก ลงรักปิดทอง หัวเสาเป็นทรงบัวตูม ภายในกลวงสำหรับบรรจุชะตาพระนคร ดวงนี้อยู่ใจกลางยันต์สุริยาทรงกลด จารึกในแผ่นทอง เงิน นาก
ส่วนเสาพระหลักเมืองครั้งรัชกาลที่ 4 คือต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมา แกนในเป็นเสาไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประดับนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑ์ เป็นต้นที่สถิตประทับของพระหลักเมือง
มีเรื่องเล่ากันมากเกี่ยว กับการฝังหลักเมืองว่ามีการฝังคนทั้งเป็น เช่น ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อท้าวเทพกษัตรีและ ท้าวศรีสุนทรได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า "บ้านเมืองใหม่" เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมืองโดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม 32 รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ 7 วัน 7 คืน แล้วจึงให้อำเภอทนายป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่าสี่หูสี่ตา (คือคนที่ตั้งครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องเรื่อยไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า โอ้เจ้ามั่น โอ้เจ้าคง อยู่ที่ไหนมา ไปประจำที่ ในที่สุดจึงได้ผู้หญิงชื่อนางนาคท้องแก่ประมาณแปดเดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบขึ้น 3 ครั้ง แล้วได้ติดตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลักเป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง"
ตามเรื่องที่กล่าวมานั้น ถ้าหากเป็นจริงก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารของชาติไทยเลย สำหรับการฝังหลักเมืองกรุงเทพฯ นี้ เชื่อว่าไม่มีการนำคนทั้งเป็นมาฝัง เพราะคะเนพระราชอัชฌาสัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ว่าทรงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และไม่ทรงโปรดให้พลีกรรมด้วยการฆ่าสัตว์เป็นแน่
ภายในศาลพระหลักเมืองกรุงเทพฯ นอกจากพระหลักเมืองแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ที่ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฏร์ทั้งปวง พระ เสื้อเมืองและพระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง ขนาดความสูงใกล้เคียงกัน ลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่พระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายถือคทา ส่วนพระทรงเมืองนั้น พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระกาฬไชยศรี เป็นรูปพระกาฬประทับอยู่บนหลังนกแสก สันนิษฐานว่าจะมาแต่พระแม่อุมาปางหนึ่งซึ่งพวกฮินดูนิยมทำรูปไว้บูชา เรียกว่า "กาลี" เจ้าพ่อเจตคุปต์กับเจ้า พ่อหอกลองนั้น แต่เดิมคงมีชื่อเรียกเดียวกันว่า เจตคุปต์ อันเป็นชื่อเรียกของเสนาพระยมราชทำหน้าที่จดบัญชีคนทำดีทำชั่วในยมโลก เพราะ มีรูปร่างคล้ายกันทั้งสององค์ ต่อมามีชื่อเรียกต่างกันไปนั้น คงเป็นเพราะองค์ที่จำหลักด้วยไม้ มีศาลเล็ก ๆ อยู่ใกล้คุก จึงเรียกกันว่าเจตคุก หรือเจตคุปต์ ส่วนองค์ที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อยู่ใกล้หอกลอง จึงเรียกกันว่าเจ้าพ่อหอกลอง
เจ้า พ่อหอกลองนี้ เดิมอยู่ที่ศาลใกล้หอกลองในสวนเจ้าเชต หอกลองนี้ถูกรื้อทิ้งไปในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เดิมในหอกลองมีกลองอยู่ 3 ใบ ใบแรกชื่อ ย่ำพระสุริย์ศรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน ใบที่สองมีชื่อเรียกว่า อัคคีพินาศ ใช้ตีเวลาเกิดเพลิงไหม้ และใบที่สามมีชื่อว่า พิฆาตไพรี ใช้ตีเวลามีศึกสงครามบอกเหตุเรียกระดมพล
การ ที่เทวรูปต่าง ๆ มารวมกันอยู่ที่ศาลหลักเมือง ทำให้ศาลหลักเมืองกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งทางใจของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ
ขอขอบคุณท่านผู้เป็นเจ้าของเครดิตภาพที่ผู้เขียนได้นำมาจาก (อินเตอร์เน็ต)เพื่อใช้ในการแสดงประกอบเนื้อหาสาระข้อมูลนี้ค่ะ..และขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพและข้อมูลจาก:วิกิพีเดีย,ท่าพระจันทร์ และข้อมูลเพิ่มเติม(บางส่วน)จาก :อินเตอร์เน็ตค่ะเรียบเรียงโดย: โชติกา พิรักษา และ ศศิภา ศรีจันทร์ ตันสิทธิ์