- 25 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ตำนานที่อยู่คู่กับวัดสระเกสนั้นมีมากมายหลายเรื่องราว ที่โด่งดังที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น ตำนานแร้งวัดสระเกศนั่นเอง หลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว อีกตำนานหนึ่งที่อยู่คู่งานประจำปีวัดสระเกศนั่นก็คือ ตำนานเมียงู นั่นเองที่หลายคนเคยได้เห็นตามงานวัดทั่วไป แต่หารู้ไม่ว่า เมียงู คือการแสดงและการละเล่นชนิดหนึ่ง เป็นงานที่อยู่คู่กับงานฉลองบรมบรรพต หรือภูเขาทองวัดสระเกศ เรียกว่าเป็นความบันเทิงหย่อนใจที่คู่กับคนไทยมาเป็นร้อยปี การแสดงโชว์ตามงานวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซด์ไต่ถังของนายเปรื่อง เรืองเดช หรือแสดงเด็กปากเท่ารูเข็ม หรือแม้แต่กระทั่งเมียงู คือต้นแบบของงานวัดที่เราเห็นกระจายตัวกันไปทั่วประเทศนั่นแล
หากพูดถึงงานวัด คนในรุ่นก่อนไม่มีใครไม่รู้จักงานภูเขาทอง วัดสระเกศ เพราะเป็นงานวัดที่เก่าแก่สุดของคนกรุงเทพฯ ที่มีสีสันเต็มไปด้วยการแสดง การละเล่น และของกินมากมาย ในแต่ละปีผู้คนต่างรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อเพื่อรองานภูเขาทองมาถึง เพราะปีหนึ่งจะมีโอกาสได้เที่ยวเล่นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินครั้งหนึ่ง ในกลุ่มมหรสพของแปลกนั้น "เมียงู" จะเป็นไฮไลท์ ที่ชวนติดตาม ด้วยใจระทึกกับเสียงเชิญชวนของโฆษก ท้าให้เข้ามาดูว่าคนกับงูอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
"สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาดูกันให้เต็มตา ว่างูกับคนอยู่กันได้อย่างไร" ต้นกำเนิดมาจากงานประจำปีของวัดสระเกสนั่นเอง
งานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทงในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทองครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา
งานภูเขาทอง วัดสระเกศ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนแล้วเสร็จ พระองค์ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดย นายวิลเลี่ยม แคลคัสตัน เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองมหานาค ท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพบูชาสักการะ และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลัง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม
สำหรับประเพณีห่มผ้าแดง เป็นประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และให้มีพิธีการห่มผ้าแดงขึ้นในทุกปี ซึ่งจะมีขึ้นในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึง วันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ คือ ก่อนจะมีพิธีลอยกระทง ๕ วัน จนหลังวันลอยกระทง ๒ วัน ก็คือจะมีขึ้น ๑๐ วัน ๑๐ คืน ซึ่งก็จะตรงกับงานวันลอยกระทง ประเพณีห่มผ้าแดงนั้น เนื่องจากสีแดงตามความเชื่อโบราณคือสีแห่งความเป็นมงคล ในโบราณกาลนั้นการฉลองห่มพระบรมสารีริกธาตุจึงใช้ผ้าสีแดง โดยมีความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เขียนชื่อ นามสกุล บนผ้าสีแดง แล้วนำผ้านั้นไปห่มพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะมีความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนให้มาร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังได้เป็นการออกกำลังกาย ได้ฟังธรรมอีกด้วย
งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายประกาศให้รู้ว่างานจะได้เริ่มขึ้นแล้ว การห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ยังเป็นวิธีการประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาด เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีการประชาสัมพันธ์อันรวดเร็วเช่นปัจจุบัน การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้จัดพิธีห่มผ้าแดงขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวพระนครได้มองเห็นแต่ไกล
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.dhammajak.net