- 17 เม.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
พระยาพิชัยดาบหัก ขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในชั้นเชิงการต่อสู้ ทั้งมือเปล่าแบบมวยไทย และอาวุธแบบกระบี่ กระบอง เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๔ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ
เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย ๒ ครั้ง ในการรบครั้งที่ ๒ พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
หลายคนอาจทราบถึงประวัติของทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคนนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงของอาวุธคู่กายของยอดนักรบท่านนี้ พระยาพิชัยดาบหัก มีดาบที่ชื่อว่า ดาบนันทกาวุธ ดาบคู่กายพ่อพระยาพิชัย "ดาบนันทกาวุธ" แปลว่า ดาบที่สยบทหารของพระเจ้านันทบุเรง ดาบนามนี้สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพระราชทานในคราว บรรดาศักดิ์ "ขุนแสนสะท้านศึก" เสมือนตำแหน่งจาตุรงค์บาทเดินคู่ช้างศึกของพระองค์ หลังจากสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ชื่อของขุนพระนายแสนศึกสะท้านได้สูญหายไปพร้อมกับดาบเหล็กน้ำพี้คู่ ที่ชื่อว่า.... "ดาบนันทกาวุธ"
สืบมาภายหลัง...ช่างตีเหล็กหลวงชาว โปรตุเกตุ นามว่า ปีแอร์ สมิทธ์ ได้พบ "ดาบนันทกาวุธ" จากการที่กระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายพม่าตกมาชนกับยอดปรางค์เจดีย์ ยอดหนึ่ง "ดาบนันทกาวุธ" ได้บรรจุไว้ในเจดีย์ดังกล่าว ปีแอร์ สมิทธ์ ได้มีโอกาสมอบดาบ "ดาบนันทกาวุธ" คู่นั้นให้กับ "หลวงพิชัยอาสา" เพื่อทดแทนดาบสองมือของหลวงพิชัยอาสาด้วยเห็นว่าดาบดีควรคู่กับนักรบเช่น..."หลวงพิชัยอาสา"
หลังจาก สิ้นรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช "ดาบนันทกาวุธ"ได้ตกทอดเป็นดาบประจำตระกูล แด่ลูกหลานพระยาพิชัยฯ ลูกหลาน พระยาพิชัยฯคนสุดท้ายที่ครอบครอง "ดาบนันทกาวุธ" คือ หลวงกล้ากลางณรงค์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่น เหลนของพระยาพิชัยฯ หลวงกล้ากลางณรงค์ ได้มอบ "ดาบนันทกาวุธ" แด่ขุนพันธรักษ์ราชเดชให้นำไปใช้งานราชการ ปราบโจรฯ เพราะเห็นว่า ขุนพันธรักษ์ราชเดช มีวิชาที่ไม่เป็นรองใครและเป็นผู้เรืองวิทยาคมที่ไม่มีใครจะเทียบอีกแล้วนับว่าเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะใช้ดาบคู่นี้จึงได้ ถ่ายทอดวิชาดาบของพระยาพิชัยดาบหัก ให้แก่ขุนพันธรักษ์ราชเดชจนสิ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ เกร็ดประวัติศาสตร์