- 06 พ.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ถือเป็นกระแสที่กำลังร้อนแรงอย่างมากในโลกออนไลน์ สำหรับกรณีโครงการบ้านพักตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากมีการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ และเกรงว่าระบบนิเวศที่อาจจะถูกทำลาย จนทำให้สิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่เลวร้ายลงในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง ความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่บนดอยสุเทพ ว่าเป็นพื้นที่อาถารรพ์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักษ์รักษาอยู่ หากย้อนกลับไป 1300 ปีที่แล้วหรือกว่านั้น ดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางชุมชนชาวลัวะ-เลอเวือะ ขนาดใหญ่ ต้นตระกูลลัวะคือ ปู่แสะย่าแสะอาศัยอยู่ที่นี่
(ผาม (ศาล)บูชาผีปู่แสะย่าแสะ ตรงตีนดอยสุเทพ ปัจจุบันคือบริเวณฝายหิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ปู่แสะย่าแสะถือผี มีลูกถือผีคือ วาสุเทพ แต่มีพระสงฆ์ (ตำนานว่าพระพุทธเจ้า) จากรัฐทวารวดีขึ้นมาเผยแพร่ศาสนาพุทธจึงบวช แต่ศีลเยอะถือไม่ไหว คงเพราะไม่ชินเนื่องจากเพิ่งเปลี่ยนจากถือผีเป็นพุทธ ดังเห็นได้ว่าปู่แสะย่าแสะยังขอกินควาย จึงเกิดประเพณีฆ่าควายเลี้ยงผี หลังสึก จึงกลายเป็นฤษี ปู่แสะย่าแสะไปอยู่ดอยคำ ส่วนฤษีวาสุเทพครองดอยอ้อยช้าง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ดอยสุเทพตามชื่อฤษีนั่นเอง ที่พำนักของฤษีวาสุเทพ คงอยู่ที่ถ้ำฤษี ฤษีวาสุเทพคล้ายหัวหน้าเผ่า และศักดิ์สิทธิ์จึงปกครองคน 4 ตระกูลคือ ตระกูลวัว แรด กวาง และช้าง
ต่อมาฤษีวาสุเทพไปเชิญพระนางจามเทวีมา พอสร้างเมืองหริภุญไชยเสร็จ ดอยสุเทพจึงเริ่มกลายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพุทธไปด้วย เห็นได้จากมีการสร้างกู่ดินขาว ยังไม่นับรวมสันกู่ที่พบพระหริภุญไชยอีกด้วย ขุนหลวงวิลังคะที่แพ้สงครามกับพระนางจามเทวี ไปตายที่เมืองก๊ะถึงกับสั่งลูกน้องให้แบกศพไปฝังที่ดอยสุเทพ โชคร้ายที่ไปไม่ถึง โลงคว่ำที่ดอยคว่ำล่อง
แต่ดอยสุเทพจะกลายเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อพุทธแบบลังกาวงศ์จากสุโขทัยเข้ามา พญากือนาจึงสร้างพระธาตุดอยสุเทพขึ้น พระธาตุนี้เป็นตัวแทนของเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ขององค์อินทร์ แต่ความเชื่อดั้งเดิมของลัวะก็ไม่หาย ทั้งผีและพุทธยังผสมอยู่ร่วมกัน ช่วงใดช่วงหนึ่งที่ล้านนาต้องการผนวกดินแดนให้เข้มแข็งผ่านความเชื่อ จึงได้มีการสถาปนาให้พระธาตุดอยเทพเป็นเจดีย์ประจำนักษัตรปีมะแม ยิ่งทำให้เจดีย์นี้สำคัญขึ้น
ยังไม่นับรวมเรื่องครูบาศรีวิชัย ที่บูรณะวัดพระธาตุดอยสุเทพ และสร้างถนน ทำให้ดอยสุเทพเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงใหม่ และภาคเหนือ รวมถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนของล้านนาต่อกรุงเทพอีกด้วยโดยผ่านปัญหาต้องอธิกรณ์
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวรื้อบ้านศาลครั้งนี้ไม่ได้แค่สะท้อนความเชื่อเชิงจิตวิญญาณต่อดอยสุเทพเท่านั้น หากยังสะท้อนจิตสำนึกเรื่องการให้ความสำคัญต่อธรรมชาติของคนเชียงใหม่ สำนึกของประชาชนต่อการเป็นเจ้าของพื้นมี่ และการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook Pipad Krajaejun
ขอบคุณคลิปจาก : marandd.com