- 12 มิ.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
เหลือเพียงรูปเดียวเท่านั้นการติดตามตัว อดีตพระพรหมเมธี หรือ “เจ้าคุณจำนงค์”อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ๑ใน๓พระพรหม ที่ต้องมลทินเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัดในรอบที่๓ ที่ได้เดินทางหลบหนีไปยังประเทศเยอรมันและอยู่ในขั้นตอนการขอลี้ภัย ซึ่งในการยื่นในครั้งนี้ ดูเหมือนว่ามีการเตรียมตัววางแผนมา อย่างเป็นระบบ และได้รับการช่วยเหลืออย่างดี เพราะเหยียบแผ่นดินเยอรมันปุ๊ปก็ยืนเอกสารปั๊ป!!!!
ดูท่าจะไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะล่าสุดพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่ายังไม่มั่นใจว่าจะสามารถนำตัวเจ้าคุณจำนงค์กลับไทยได้หรือไม่ หลังจากที่คณะของผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ติดปีกบินไปรับตัวถึงที่ แต่ต้องคว้าแห้วกลับไทยมาแทน
ทำไมเจ้าคุณจำนงค์ถึงต้องหนีไปที่เยอรมัน? ปฏิเสธไม่ว่าคำตอบหนึ่งที่ใครหลายคนคาดการ คือ หวังพึ่งใบบุญ “ธรรมกาย” ที่เจ้าคุณรูปนี้สนิทมักคุ้นป็นอย่างดี แม้บรรดาลูกหาบธรรมกายจะออกมาปฏิเสธว่าธรรมกายไม่ได้อยู่เบื้องหลังในการช่วยเหลือในครั้ง
แต่จะมีกี่คนที่เชื่อ?? ...เพราะเป็นที่ทราบกันดีอาณาจักรธรรมกายในยุโรปนั้น มีถึง ๒๓ สาขา เฉพาะสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มี ๘ สาขาคือ วัดพระธรรมกายเบอร์ลิน, วัดพุทธฮัมบวร์ก, วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต, วัดพระธรรมกายชวาร์ซวัลด์, วัดพุทธไฮล์บรอนน์ ,วัดพุทธนอร์ดไรน์ เวสฟาว์เลน ,วัดพระธรรมกายไรน์แลนด์ (นครแฟรงก์เฟิร์ต) และโดยเฉพาะ วัดพระธรรมกายบาวาเรีย ที่เจ้าคุณจำนงค์ได้เดินไปร่วมพิธีเปิดด้วย อีกทั้งวัดนี้จัดห้องพิเศษให้กับเจ้าคุณจำนงค์
นี่คือสายสัมพันธ์อันดีเยี่ยม ที่ปรากฏอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหนีไปซ้อนตัวที่เยอรมัน แต่ว่าจะสายสัมพันธ์จะลึกซึ้งแค่ไหนนั้น ต้องมาพิจารณากันต่อ
ในการบุกค้นวัดของเจ้าหน้าในครั้งนั้น นอกจากคดีทุจริตที่ทำให้ต้องกระเจิงกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังได้ตรวจพบการซื้อขาย “สมณศักดิ์” เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการซื้อขาย ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ทำให้ได้หลักฐานสำคัญที่วัดสามพระยา ”อดีตเจ้าคุณเอื้อน” หรือพระพรหมดิลก 1ใน3พระพรหมดังกล่าว อาจเข้าไปพัวพันในเรื่องนี้ด้วย
การซื้อขายสมณศักดิ์นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในวงการสงฆ์ และเป็นต้นเหตุให้บรรดาพระสงฆ์ต่างแสวงหาเงิน เพื่อนำไปซื้อสมณศักดิ์ หรือตำแหน่ง เป็นใบเบิกทางให้ตัวเองได้เข้ามามีอำนาจปกครองทางสงฆ์ และเมื่อได้อำนาจนั้นมา ก็จะยิ่งทำให้อำนาจบารมีเบ่งบาน การแสวงหาเงินทองนั้นก็จะได้มาโดยง่ายเฉกเช่นกัน ว่ากันว่าการซื้อขายสมณศักดิ์นั้นมีการประเมินตกลงราคาการซื้อขายสมณศักดิ์ สูงถึง4ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับ”ฐานานุกรม” หรือ ฐานานุศักดิ์ คือชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย สำหรับประดับพระอิสริยยศของสมเด็จพระสังฆราช หรืออิสริยยศของสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ ซึ่งแต่เดิมมีโดยพระบรมราชโองการและกฎหมาย มีไว้เพื่อเป็นบริวารยศและเพื่อช่วยภาระธุระของผู้ตั้ง คงเริ่มพระราชทานแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
อนึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีสมณศักดิ์สูงบางตำแหน่งมีสิทธิ์ตั้งพระรูปอื่นให้เป็นฐานานุกรมได้ตามศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต
เช่น พระสงฆ์ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ สามารถตั้งฐานานุกรมได้ ๓ ตำแหน่ง พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ ๓ ตำแหน่ง เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ ๑๕ ตำแหน่ง
รายนามฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นต่างๆประกอบไปด้วย
สมเด็จพระราชาคณะ ได้แก่ พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑ (พระครูปลัดสัมพิพัฒน...จารย์) ,พระครูวินัยธร ๑,พระครูธรรมธร ๑,พระครูคู่สวด ๒,พระครูรองคู่สวด ๒, พระครูสังฆรักษ์ มีราชทินนาม ๑,พระครูสมุห์ ๑และพระครูใบฎีกา ๑
พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ได้แก่ พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑ (พระครูปลัดสุวัฒน...คุณ) ,พระครูวินัยธร ๑ ,พระครูธรรมธร ๑ ,พระครูคู่สวด ๒ ,พระครูสังฆรักษ์ มีราชทินนาม ๑ ,พระครูสมุห์ ๑ และ พระครูใบฎีกา ๑
พระราชาคณะชั้นธรรม ได้แก่ พระครูปลัดมีราชทินนาม ๑ (พระครูปลัด...วัฒน์) ,พระครูวินัยธร ๑ ,พระครูธรรมธร ๑ ,พระครูสังฆรักษ์ ๑ ,พระครูสมุห์ ๑ และพระครูใบฎีกา ๑
พระราชาคณะชั้นเทพ ได้แก่ พระครูปลัด ๑ ,พระครูวินัยธร ๑ ,พระครูสังฆรักษ์ ๑ ,พระครูสมุห์ ๑ และพระครูใบฎีกา ๑
พระราชาคณะชั้นราช ได้แก่ พระครูปลัด ๑ ,พระครูสังฆรักษ์ ๑ ,พระครูสมุห์ ๑ และพระครูใบฎีกา ๑
พระราชาคณะชั้นสามัญ ได้แก่ พระปลัด ๑ ,พระสมุห์ ๑ และพระใบฎีกา ๑
สิทธิในการให้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สามารถแต่งตั้งพระฐานานุกรมได้ จะมีระบุไว้ในสัญญาบัตรพระราชทานสมณศักดิ์ ว่าให้สามารถตั้งได้เท่านั้นเท่านี้รูป ซึ่งพระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานสิทธิในการตั้งพระฐานานุกรม จะตั้งหรือไม่ตั้งก็ได้ หรือจะตั้ง แต่ตั้งเพียงจำนวนเท่าที่เห็นควรก็ได้ ไม่จำต้องตั้งทั้งหมด
ตำแหน่งเหล่านี้เดิมมีพัดยศของหลวงพระราชทานมาให้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องจัดทำเอง โดยพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์แต่งตั้งฐานานุกรมจะแต่งตั้งพระสงฆ์รูปใดในศิษยานุศิษย์ของตน ก็สุดแล้วแต่อัธยาศัย ทางการไม่ได้เกี่ยวข้องในการแต่งตั้งพระฐานานุกรม เพียงแต่รับรู้เท่านั้น
แต่โดยปกติแล้วตำแหน่งดังกล่าวมักจะแต่งตั้งให้กับพระในวัดของผู้แต่งตั้งนั้นๆ เนื่องจากมีความใกล้ชิด สนิทสนม และสะดวกให้ดูแลกิจต่างๆกันมากกว่า โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญอย่าง “พระครูปลัดสุวัฒน” ที่จะมีสิทธิ์ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณในการประชุมมส. ของปีถัดไป
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ปกติในการแต่งตั้งสมณศักดิ์ของ ๔ เจ้าคุณแห่งวัดพระธรรมกายเมื่อปี๒๕๕๗ ปรากฏชื่อของ ๓ อดีตพระพรหมที่ต้องคดีในครั้งนี้ ย้ำชื่อกันอีกครั้งได้แก่
อดีตพระพรหมเมธี หรือ “เจ้าคุณจำนงค์”
อดีตพระพรหมดิลก หรือ ”เจ้าคุณเอื้อน”
อดีตพระพรหมสิทธิ หรือ “เจ้าคุณธงชัย”
และยังปรากฏชื่อของ พระพรหมสุธี หรือ “เจ้าคุณเสนาะ” อดีตเจ้าอาวาสวัด สระเกศฯ ศิษญ์ร่วมสำนักของเจ้าคุณธงชัย ที่การกระทำ “อัตวินิบาตกรรม” ด้วยการใช้ “ประคดผูกคอตาย” มรณภาพภายในกุฏิ หลังจากที่แฉว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตอีกด้วย
และบังเอิญอย่างผิดปกติหรือไม่ เป็นเรื่องควรพิจารณา เมื่อปรากฎรายชื่อว่าด้วยอำนาจการพิจารณาได้มีแต่งตั้งให้พระลูกวัดของพระธรรมกายอันได้แก่....
พระครูวิเทศปัญญาภรณ์ (สมบุญ สมฺมาปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ "พระวิเทศภาวนาจารย์ สป.วิ."
พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (ภูเบศ ฌานาภิญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเบเนลักซ์ เบลเยี่ยม เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ "พระภาวนาธรรมวิเทศ สย.วิ."
พระครูวิเทศธรรมภาวนา (ไวโรจน์ วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายบาวาเรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ "พระวิเทศภาวนาธรรม สย.วิ."
พระครูปลัดสุวัฒนดิลกคุณ (บัณฑิต วรปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายไทเป ไต้หวัน เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ในราชทินนามที่ "พระวิเทศธรรมาภรณ์ สย."
เป็นที่น่าสังเกตว่าเพราะเหตุใด พระพรหมทั้ง๔ รูป ถึงไม่เลือกที่จะตั้งพระในวัดของตนเอง แต่กลับเรื่องที่จะตั้งพระลูกวัดธรรมกายแทน
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นในการค้นหาความจริง ที่อาจโยงเส้นทางเบื้องลึกเบื้องหลังคดีเงินทอนวัด และรวมถึงโครงสร้างอันซับซ้อนในหมู่คณะสงฆ์กับวัดธรรมกาย ซึ่งเป็นจุดสังเกตุของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเส้นทางการหลบหนีของ เจ้าคุณจำนงค์ หรือไม่?? รวมถึงเป็นเหตุผลเชื่อมโยงอย่างไร จึงเป็นที่มาแต่งตั้งให้พระลูกวัดของพระธรรมกายแทนธรรมเนียมปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็นใช่หรือไม่ ส่งต่ออิทธิพลไม่สิ้นสุด