- 19 มิ.ย. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
วัดบ้านแพน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๒๕ หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เดิมชื่อ“วัดจันทรคูหาวาส”สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. ๒๒๘๐ ภายหลังจากเสียกรุง ครั้งที่ ๒ วัดบ้านแพนคงได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ผ่านทัพของพม่า ต่อมาเมื่อพระยาวชิรปราการ หรือเจ้าพระยาตาก ได้กอบกู้เอกราช และปราบดาถิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงธนบุรี ทรงเร่งทำนุบำรุงบ้านเมืองเป็นการใหญ่ ทั้งพระนครที่ทรงสร้างขึ้นใหม่
และในส่วนของกรุงศรีอยุธยาเดิม วัดบ้านแพน ก็เช่นเดียวกัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๐ ภายหลังจากกอบกู้เอกราช แต่มิได้ระบุไว้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการ ภายหลังจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ปัจจุบันสิ่งที่เป็นหลักฐานหลงเหลือจากอดีต ก็คือ พระประธานในอุโบสถ ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสลักจากหินศิลาแรง ศิลปะสมัยอู่ทอง
บริเวณพื้นที่ตั้งวัดบ้านแพนแต่เดิมนั้นเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย มีเนื้อที่ ๓๔ ไร่ ๑ งาน ๖๗ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๕๓๐๐ มีมีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๑๔ แปลง เนื้อที่ ๑๕๑ ไร่ ๒ งาน ๒๑ ตารางวา มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับทางสาธารณะ
ทิศใต้ ติดต่อกับคลองสามกอ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำแควน้อย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำปลายนาเก่า
มูลเหตุของการตั้งชื่อวัดนั้น ตำนานของท้องถิ่นบอกไว้ว่า แต่เดิมมีสำเภาใหญ่ล่องมาทางคลองรางจระเข้ โยหารู้ไม่ว่า บริเวณปากคลองนี้มีกระแสน้ำวนเชี่ยวกราก สำเภาจึงเสียการทรงตัว กระแทกเข้าริมตลิ่ง แล้วบ่ายหัวไปอีกทาง สำเภากระทบกระทั่งทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่างไร้ทิศทาง จนเรือล่วงเข้าสู่ท้ายคลองจึงจมลงอย่างสงบนิ่ง มีเพียงเสากระโดงโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ส่วนข้าวของและสัมภาระที่ติดมากับเรือต่างลอยกระจายอยู่ทั่วไป ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ ต่างเข้าช่วยตามกำลัง ส่วนหนึ่งลากเอาเสื่อลำแพนที่ลอยไปติดเนินดินขึ้นตากแดดจนแห้ง ภายหลังจึงเรียกชื่อแห่งนั้นว่า “บ้านแพน”ส่วนกกที่ลอยไปติดใกล้โคกใหญ่ชาวบ้านได้ช่วยกันนำตากบนโคก จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกเสื่อ”
ส่วนพ่อค้าสำเภา หลังจากเรืออับปาง ก็ตัดสินใจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นจุดเตือนใจในสัจธรรมของชีวิต และนำเสากระโดงเรือตั้งไว้เป็นสัญลักษณ์ แล้วขนานนามวัดว่า “วัดเสากระโดงทอง” บริเวณที่นำเสื่อลำแพนไปตากนั้น เป็นพื้นที่ในการครอบครองของวัดจันทรคูหาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบ้านแพน” ส่วนเนินดินนั้นเมื่อสายน้ำเปลี่ยนทิศทางผ่านมายังจุดนั้น จึงกลายเป็นชุมทางเรือและการค้าขาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเสนา
ประวัติ หลวงพ่อพูน ฐิตสีโล (พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ) ชาติภูมิ พระครูสุวรรณศีลาธิคุณ หรือหลวงพ่อพูน ฐิตสีโล มีนามเดิมว่า ทองพูน นามสกุล สัญญะโสภี ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก) โยมบิดาชื่อแบน โยมมารดาชื่อสมบุญ สัญญะโสภี ณ บ้านสามกอ หมู่ ๑ ตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การศึกษาพุทธาคม
ในด้านพระเวทย์วิทยาคมหลวงพ่อพูนท่านได้สนใจและได้ศึกษาในเรื่องพุทธเวทย์มหามนต์ซึ่งเป็นศาสตร์แห่ง “พุทธ” มาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี โดยในเวลานั้นได้ติดตามหลวงปู่คำปัน พระธุดงค์ที่มาจากภาคเหนือขึ้นไปอาศัยอยู่ภาคเหนือเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้กลับมาบ้านเกิดพร้อมทั้งตำราการดูดวงที่ถือได้ว่าแม่นยำอย่างหาใครเปรียบได้ยาก
ไม่เพียงแค่นั้นหลวงพ่อพูนท่านยังได้ฝึกเรียนกรรมฐานกับอาจารย์พริ้งฆราวาสจอมขมังเวทย์ในย่านบ้านแพน และได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำน้ำมนต์มาจากอาจารย์พริ้งจนจบหลักสูตรวิชา จึงเป็นเหตุให้น้ำพระพุทธมนต์ที่หลวงพ่อพูนทำขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก สามารถใช้ขับไล่ภูตผี ปีศาจ เสนียดจัญไรได้อย่างชะงัด นอกจากอาจารย์พริ้งแล้วหลวงพ่อพูนยังได้ร่ำเรียนวิชามาจากอาจารย์ลพ เกตุบุตร ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงพ่อวาสน์พระอุปัชฌาย์ของท่าน และเป็นศิษย์เอกของอาจารย์จาบแห่งตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยหลวงพ่อพูนได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงยันต์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อมักใช้จารลงในแผ่นยันต์หรือแหวนอยู่เสมอ ๆ สำหรับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์นั้น หลวงพ่อพูนได้ศึกษาวิชามาจากหลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน จนมีความเชี่ยวชาญด้านพระเวทย์เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาพระคาถาชินบัญชรอันลือลั่นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่แม้ว่าหลวงพ่อมีจะมีความเชี่ยวชาญในพระคาถานี้อย่างหาผู้ใดเทียบได้ยาก เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ยังชมหลวงพ่อพูนว่า “มีความเชี่ยวชาญพระคาถาชินบัญชรมากกว่าท่าน” มูลเหตุของการเรียนตะกรุดดอก(ไม้)ทอง มูลเหตุในการเรียนวิชาการทำตะกรุดของหลวงพ่อพูนนั้น คงสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงพ่อท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระกรรมวาจาจารย์ คือเป็นพระคู่สวดประจำวัดบ้านแพน ในวันหนึ่งมีพระในวัดที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ซึ่งกำลังจะลาสิกขาได้มากราบลาหลวงพ่อพร้อมกับเอ่ยปากขอของดีจากหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านจึงดุไปว่าตัวท่านเองนั้นไม่มีวิชาอะไรและจะเอาของดีที่ไหนมาให้
ต่อมาหลวงพ่อท่านทราบว่าที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง มีพระอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมทางด้านการทำตะกรุดดอกทอง นั่นก็คือหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเขียว ว่ากันว่าฉี่ของหลวงพ่อเขียวใครดื่มกินเข้าไปจะอยู่ยงคงกระพัน และเคยมีการทดลองนำปืนมายิงใส่ฉี่ของท่านปรากฏว่ายิงไม่ออกจริง ๆ วันหนึ่งหลวงพ่อสนั่นท่านได้รับกิจนิมนต์ให้มาเทศน์ที่วัดบ้านแพน หลวงพ่อพูนก็เข้าไปกราบนมัสการท่านและก็เลยถือโอกาสขอเรียนวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่น ตอนแรกที่ขอเรียนวิชานั้นหลวงพ่อสนั่นท่านไม่ให้ แต่พอสนทนากับท่านนานเข้า หลวงพ่อสนั่นจึงหลุดปากบอกกับหลวงพ่อพูนว่าถ้าอยากได้ให้ไปหาท่านที่วัดเสาธงทอง อยู่ต่อมาจนวันหนึ่งหลวงพ่อพูนท่านมีธุระต้องไปที่วัดเสาธงทอง ท่านจึงนึกได้ว่าเคยขอวิชาการทำตะกรุดจากหลวงพ่อสนั่นไว้ท่านจึงได้ไปร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดดอก(ไม้)ทองจากหลวงพ่อสนั่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา