- 28 ส.ค. 2561
ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไทยออยล์อนุมัติการลงทุนโครงการ CFP
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ซึ่งประชุมเมื่อวานนี้ (27 สิงหาคม 2561) ได้มีมติอนุมัติการ ลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ให้คงอยู่ในกลุ่มผู้นำของอุตสาหกรรม ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบจากเดิมที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยโครงการใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี และมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยบริษัทฯ มีแนวทางเพิ่มเติมในการจัดหาผู้สนใจลงทุนในหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนลดลง เป็นไม่เกิน 4,174 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายอธิคม กล่าวเสริมว่า “ สภาวะอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากการเกิดขึ้นของโรงกลั่นใหม่หลายแห่ง ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตสูง ทำให้โรงกลั่นที่มีอายุการใช้งานมานาน มีความสามารถในการแข่งขันลดลง นอกจากนี้ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำมันเตากำมะถันสูงซึ่งคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการประกาศห้ามใช้ในเรือเดินสมุทรขององค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ(International Maritime Organization หรือ IMO) และแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน ตามการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและการเดินทางทางอากาศ เป็นต้น ”
“ เพื่อรองรับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไทยออยล์จึงริเริ่มโครงการ CFP ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยจะทำการก่อสร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีกำลังการกลั่นสูงมาทดแทนหน่วยกลั่นน้ำมันเดิมซึ่งมีอายุการใช้งานมานาน ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดขึ้น การติดตั้งหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์เพื่อเปลี่ยนน้ำมันเตาและยางมะตอยเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน เป็นต้น การลงทุนโครงการ CFP ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในหลายๆ ด้าน อาทิ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างโอกาสการเป็น Energy Hub ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) สนับสนุนการขับเคลื่อนและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้โครงการ CFP ยังผลิตสารตั้งต้นของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีซึ่งสามารถสนับสนุนโครงการปิโตรเคมีระยะ 4 ของภาครัฐ อีกด้วย ”