- 11 พ.ย. 2561
"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์" เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ มรณภาพ สิริอายุ 100 ปี
วานนี้ (10/11/2561) พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะประธานกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการมส. ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยความชราภาพ ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ สิริรวมอายุ 100 ปี 81 พรรษา ส่วนกำหนดการต่างๆ จะมีการประชุมกับทางพระเทพสังวรญาณ (จิรพล อธิจิตโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม และคณะกรรมการวัดสัมพันธวงศาราม เบื้องต้นคาดว่าจะมีพิธีสรงน้ำในวันที่ 12 พ.ย.หรือวันที่ 13 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุถึง 100 ปี เป็นรูปที่ 4 ในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย งดงาม น่าเลื่อมใส เปรียบได้กับพระกัมมัฏฐานกลางกรุง ครั้งหนึ่งเคยเดินธุดงค์ไปบนเส้นทางเดียวกับพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นอกจากนี้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ยังเน้นการปฏิบัติภาวนาพร้อมกับการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ยึดถือแนวปฏิบัติของหลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 2 พระสายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง มาโดยตลอด
สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เกิด วันที่ 29 ธ.ค.2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้วอ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจ.อำนาจเจริญ)บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2472 ที่วัดบ้านบ่อชะเนง และได้ออกเดินธุดงค์ติดตามพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ปี 2473เดินธุดงค์กรรมฐานพร้อมกับคณะโดยผ่านจ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และจำพรรษาที่วัดป่าช้าเหล่างา ปัจจุบันคือ วัดป่าวิเวกธรรม ต.พระลับอ.เมือง จ.ขอนแก่น และได้ญัตติเป็นสามเณรธรรมยุต
ต่อมาได้เดินทางมาเรียนนักธรรม บาลี ที่วัดสัมพันธวงศาราม และอุปสมบทเมื่อปี2480 ที่วัดสัมพันธวงศาราม ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ต่างๆภายในวัด จนต่อมาปี 2514 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ส่วนลำดับสมณศักดิ์ ปี 2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระอริยเมธี ปี 2507 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี ปี2514 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปัญญามุนี ปี 2519เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมบัณฑิต ปี 2532 ได้รับการสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระอุดมญาณโมลี และปี 2544 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์