อ่านเกมให้ขาด เทียบราคาทองย้อนหลังช่วงปลายปี วันนี้ปรับขึ้นอีก วิเคราะห์ชัดทิศทางผันผวนรับศักราชใหม่

เปรียบเทียบราคาทองย้อนหลังช่วงปลายปี พ.ศ. 2561 ปรับราคาขึ้น นักลงทุนวิเคราะห์ คาดปีใหม่ทิสทางผันผวน

    เรียกว่าใกล้ปีใหม่ประชาชนหลายคนต่างลุ้นกันอย่างใจจดว่าราคาทองคำจะมีการปรับลดหรือเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในข้อตัดสินใจเลือกหามาเป็นของขวัญอันมีค่าให้แก่ญาติผู้ใหญ่ หรือจะเป็นของแทนความรักก็ดีไม่น้อยในคู่ของหนุ่มสาว โดยราคาทองล่าสุด มีการเปิดตลาดอยู่ 2 ครั้งในวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยครั้งแรกเมื่อเวลา 09. 30 น. ราคาทองอยู่ในเกณฑ์คงที่ ถัดมากับครั้งที่ 2 เวลา 14.06 น. ราคาทองคำตามสมาคมค้าทองมีการปรับขึ้น 50 บาท โดย ทองคำแท่ง รับซื้อ 19,100.00  ขายออก 19,200.00   ทองรูปพรรณ  รับซื้อ 18,752.92  ขายออก 19,700.00 

ราคาทองย้อนหลัง

 

ราคาทองวันนี้

 

     ราคาทองคำ spot เช้าวันจันทร์ต้นสัปดาห์สุดท้ายเดือนพ.ย. ยังเคลื่อนไหวเหนือระดับ 1,220 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง ส่วนแนวโน้มสัปดาห์นี้มีปัจจัยกระทบสำคัญค่อนข้างมากจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้านทองไทยเงินบาทอ่อนเป็นแรงหนุน ราคาทองคำ spot สัปดาห์ที่ผ่านปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 จากปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์งบประมาณของอิตาลี ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และประเด็น Brexit นอกจากนี้ตลาดทองคำยังได้รับแรงหนุนซื้อจากกองทุน SPDR Gold Trust กองทุน ETF รายใหญ่ของโลกที่ตลอดสัปดาห์ที่แล้วเข้าซื้อทองคำมากถึง 24 ตัน

     ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในสัปดาห์นี้ ติดตามรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 สหรัฐในคืนวันพุธ และการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุดในคืนวันพฤหัส นอกจากนี้ติดตามการประชุมกลุ่มจี 20 ในช่วงปลายสัปดาห์ซึ่งมีประเด็นการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐและจีนเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ 

   ราคาทองคำในประเทศ เปิดตลาดจันทร์สัปดาห์สุดท้ายเดือนพ.ย. เท่าราคาปิดตลาดตั้งแต่วันศุกร์ โดยมีเงินบาทอ่อนค่าต่ำมากกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุน ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ฟิวเจอร์ส มองแนวโน้มราคาทองคำ spot ว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,220-1,230 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำมีแนวต้านที่ 1,230 และ 1,235 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีแนวต้านแข็งแกร่งระยะสั้นที่ 1,240 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวรับอยู่ที่ 1,220 ดอลลาร์ต่อออนซ์และแนวรับสำคัญที่ 1,210 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ทองคำ

 

     ทั้งนี้หากพิจารณาย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 กับ เดือนธันวาคม 2558 นั้นราคาทองมีการปรับลง  - 1,350 บาท ปรับถี่ช่วง 25 พฤศจิกายน 58 ยาวไปตลอดทั้งเดือน และมาบวกเพิ่มในเดือนธันวาคม ปี 2558 + 300 บาท ซึ่งยิ่งใกล้ปีใหม่ยิ่งมีการปรับขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในปี 2559 เดือนพฤศจิกายน มีการผันผวนมากที่สุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 59 และมีการปรับตัวลดลงของราคาทองสูงถึง -1,100 บาท เรื่อยไปจนถึงเดือนธันวาคมปรับลดอีก -300 บาท ปรับขึ้นถี่ในช่วงวันที่  17 ธันวาคม 59 และมาเพิ่มในเดือนมกราคม ปี 2560 อีก +250 และปรับลงจนมาถึง เดือนพฤศจิกายน -250 บาท และเพิ่มสูงในเดือนธันวาคม +250 บาท และให้นักลงทุนสังเกตว่าในปี 2561 นี้ราคาทองมีการปรับลงอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนจนมาปรับขึ้นสูงสุดในเดือนตุลาคม 2561 สูงสุด +850 บาท และเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนเรื่อยๆ ไปถึงช่วงธันวาคม  ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเทศกาลปีใหม่มีการจับจ่ายซื้อขายตามเทศกาลอย่างคึกคักทำให้เดือนนี้ราคาทองปรับเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจนั่นเอง

 

สร้อยคอทองคำ

สำหรับตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดราคาทองของไทย สามารถสรุปได้ 4 ประการดังนี้

1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
2. อัตราค่า Premium ( ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ )
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
4.Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ

   ทีนี้เรามาดูกันว่าตัวแปรแต่ละตัวใน 4 ตัวแปรนี้ มีความสำคัญและมีรายละเอียดที่ลึกลงไปสำหรับที่จะใช้นำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาการขึ้นของราคาทองคำในบ้านเรากัน

1. ราคาทองคำต่างประเทศ (Gold spot)
    เป็นราคาอ้างอิงทางอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่ได้มีการบวก หรือลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการส่งมอบทองคำ เป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่มีการส่งมอบ ซึ่งหากท่านพิจารณาดูราคา Gold spot จะเห็นว่ามีทั้งฝั่ง Bid และ Ask ซึ่งก็คือราคารับซื้อ และราคาขายออกนั่นเอง ในการซื้อทองคำจากต่างประเทศนั้น ผู้ขายจะใช้ราคา Ask ในการคำนวณ ส่วนเมื่อเราขายกลับไปยังผู้ค้าทองคำต่างประเทศ จะใช้ราคา Bid ในการคำนวณ ดังนั้นทางสมาคมเองก็เช่นกัน ในการกำหนดราคาทองภายในประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ว่าสภาวะตลาดทองคำภายในประเทศเป็นเช่นไร เช่นมีความต้องการซื้อทองคำอย่างมากก็ต้องนำเข้าทองคำ หรือหากมีความต้องการขายทองคำจำนวนมากก็ต้องส่งออกเป็นต้น

2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
เมื่อมีความต้องการซื้อทองคำจำนวนมากจากผู้สนใจลงทุนในทองคำ และปริมาณทองคำภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ร้านค้าทองจึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการซื้อจากผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าก็ต้องซื้อต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้ค้าในต่างประเทศ โดยจะมีการคิดค่า Premium

3. ค่าเงินบาทต่อดอลล่าสหรัฐ
ค่าเงินบาทในการคำนวณราคาทองในประเทศ จะใช้อัตราการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ gold spot และมีการใช้ราคาในฝั่ง Bid และ Ask เช่นเดียวกัน สำหรับในสภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินเช่นปัจจุบัน แต่ละธนาคารก็จะบวกค่าความเสี่ยงเข้าไปด้วยเช่นกัน

4. Demand และ Supply ภายในประเทศ
    คณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคม นอกจากจะพิจารณาราคา Gold Spot/ค่า Premium และค่าเงินบาท ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัย Demand/Supply ภายในประเทศด้วยเป็นหลักเพื่อที่จะตัดสินใจประกาศราคาทองคำภายในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาทั้ง 5 ท่าน จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขายระหว่าง

4.1 ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ
4.2 ร้านค้าทองเยาวราช
4.3 ร้านค้าส่งทองคำ
4.4 ร้านค้าปลีกทองคำ
4.5 ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่
4.6 ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย

ทองคำแท่ง

 

   กล่าวคือ มิใช่ว่าร้านทองจะซื้อขายกับประชาชนผู้สนใจลงทุนในทองคำเพียงฝ่ายเดียว ตามที่ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจ เป็นความเข้าใจที่ผิด ทุกภาคส่วนล้วนมีการซื้อและขายทองคำด้วยกันเองตลอดเวลาด้วย และการซื้อขายของร้านค้าทองด้วยกันเองนั้นจะมีปริมาณที่มากกว่าการซื้อขายกับผู้ลงทุนทั่วไปหลายสิบเท่า เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสมาคมประกาศราคาทองคำสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงจากตลาดต่างประเทศมากไป ร้านทองด้วยกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาซื้อ หรือเทขายกันเอง ส่งผลให้สมาคมต้องปรับราคาให้เหมาะสมในที่สุด เพื่อสะท้อนถึงความต้องการทองคำของตลาดตามความเป็นจริง ตามกฎของ Demand/Supply กลไกของตลาดดำเนินการไปด้วยตัวของมันเอง เช่น หากราคาทองของสมาคมประกาศต่ำกว่าตลาดโลกมากก็จะมีกลุ่มผู้ตระเวนซื้อทองรูปพรรณเก่าตามร้านทองทั่วประเทศ และขายทองให้ผู้ส่งออกต่างประเทศได้ส่วนต่างผลกำไรโดยตรง ไม่ผ่านร้านทองทำให้ร้านทองเสียรายได้ส่วนนี้ไปอย่างเห็นได้ชัด หรือหากมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก ก็จะมีผู้นำเข้าทองนำทองมาขายให้ร้านทองโดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากได้กำไรจากส่วนต่างที่มากจูงใจ

 

ราคาทองรูปพรรณ

 

    ดังนั้น การที่ผู้สนใจลงทุนในทองคำดูราคา Gold spot จาก เว็บไซต์ต่างประเทศ แล้วนำมาคำนวณตามสูตรตรงๆ ก็จะได้ราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในการซื้อขายที่มีการส่งมอบทองจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติอย่างเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าตลาดค้าทองคำของไทยนั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และสามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง 

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง จีไอที เผยข้อมูลส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย สัมพันธ์กับราคาทองคำที่ลดลง


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง น้ำมันตลาดโลกร่วงแรง ส่งผลภาวะเงินบาทอ่อนค่าทองคำคงที่ พรุ่งนี้น้ำมันไทยลด 50 สต./ลิตร