- 01 ม.ค. 2562
เพื่อไทยปล่อยข่าว "ดีลตั้งรัฐบาล" ให้ราคาประชาธิปัตย์...เป็นแค่พรรครองบ่อน??
จากกระแสข่าวหลุดออกมาจากทางฝั่งพรรคเพื่อไทย (1ม.ค.62) โดยมีรายงาน เปิดเผยถึงการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และ นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 21-23 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า นอกเหนือจากการเข้าพบและร่วมหารือกับภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวของจีน เกี่ยวกับการสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่ไทยแล้ว
รูปจากเพจ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan
ทางผู้บริหารรัฐวิสาหกิจการท่องเที่ยวของจีนยังได้สอบถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 กับคุณหญิงสุดารัตน์อีกด้วย โดยแกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ยังเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเร็วที่สุดคือ วันที่ 24 ก.พ.62 ตลอดจนเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทย จะได้ที่นั่ง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 และรวมกับเครือข่ายฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่งผลให้เสียงอาจไม่มากพอที่จะกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี เมื่อถึงเวลานั้นพรรคเพื่อไทยก็พร้อมที่จะทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. 80-100 ที่นั่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และได้เกิน 375 ที่นั่ง เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยรายงานข่าวดังกล่าวได้ระบุด้วยว่า เบื้องต้นแกนนำของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล โดยมีข้อเสนอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา พร้อมกับมอบหมายกระทรวงสำคัญบางกระทรวงให้กับผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีจะเลือกจากบัญชีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ยังยืนยันว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ อย่างไรก็ตามอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างหาเสียง โดยดูจากผลสำรวจความนิยมในช่วงนั้นอีกครั้ง
ล่าสุดในวันเดียวกัน ทั้ง2 พรรค ก็ได้ออกมาปฏิเสธถึงกระแสข่าวการจับมือกันของ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ จ้าละหวั่น โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่า ไม่เคยหารือหรือพูดคุยเป็นการภายในกับคนในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และต่างคนต่างทำหน้าที่ในการนำเสนอนโยบาย ซึ่งเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยชัดเจนคือ ต้องการให้มีการคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศ และให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจว่าเรามีประชาธิปไตยที่เป็นสากล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงพร้อมที่จะทำงานกับพรรคการเมือง ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธถึงกระแสข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่เห็นถึงเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะรัฐบาลแห่งชาติ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน ส่วนความจำเป็นที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่าง เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จะจับมือกันเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจนั้น นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า หากวุฒิสภา 250 คนตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เคารพการตัดสินใจของประชาชน การจับมือเป็นรัฐบาของพรรคการเมือง ก็จะไม่เกิดปัญหา จึงขอให้ ส.ว. ตระหนักในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตามแต่แม้ทั้ง2พรรค จะออกมายืนยันหนักแน่น ปฏิเสธการไหลร่วมกัน สำหรับความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาการใช้วาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อต่อต้าน “เผด็จการ” ซึ่งที่ผ่านทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคเครือข่าย และรวมไปถึงประชาธิปัตย์ ก็มักใช้คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เรียกแทนตัวเองอยู่เสมอที่ผ่านมา..ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง
ประเด็นต่อมา ในการหยั่งเสียงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเมื่อช่วงปี2559 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของนายอภิสิทธิ์นั้น จะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็แล้ว การที่นายอภิสิทธิ์ประกาศไม่รับร่างฯในขณะนั้น ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไม่รับร่างฯเช่นกัน ไปโดยปริยาย
ท้ายสุดต้องไม่ลืมว่ากระแสข่าวการไหลรวมของทั้ง ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย ไม่ได้เกิดขึ้นมาครั้งแรก เกิดมาเป็นระยะ โดยเฉพาะ เมื่อ 25 ก.ย.61 นายโภคิน แกนนำคนสำคัญเพื่อไทย ได้ตกเป็นข่าวว่าได้เจรจากับ นายอภิสิทธิ์ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลหลัการเลือกตั้งมาครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่แตกต่างจากครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นแค่ พรรครองบ่อนใช่หรือไม่ ?