- 05 ม.ค. 2562
ในวันพายุร้ายถาโถมรพ.ไฟฟ้าดับ! 6ทารกน้อยถือกำเนิด รายสุดท้ายหนัก 4,290 กก.มาเวลา19.30 น.
จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทย ซึ่งทางกรมอุตุฯได้ออกประกาศเตือนเมื่อวานนี้ (4 ม.ค. 62) พายุโซนร้อน "ปาบึก" (PABUK) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณระหว่างอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว หรือที่ละติจูด 8.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.2 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทำให้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหลายจุดไฟฟ้าดับนานหลายชั่วโมง
ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพลงในเฟซบุ๊ก Arak Wongworachat ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ การทำงานของเจ้าหน้าที่แพทย์ ที่ต้องดำเนินการผ่าตัดคนไข้ 11 รายในวันนี้ทั้งที่ไฟฟ้าดับ
#ผ่าตัดท่ามกลางพายุขึ้นฝั่งและไฟฟ้าดับ
เรียบร้อยดีแต่มาเพิ่มอีกสามราย
รายแรกตั้งครรภ์ความดันสูงให้คลอดปกติแต่ไม่สำเร็จเสี่ยงสูง ต้องผ่าคลอด
รายที่สองคลอดยากปากมดลูกไม่คืบต้องผ่า
รายที่สามท้องนอกมดลูกเสียเลือดมาก
ต่อมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพลงในเฟซบุ๊ก Arak Wongworachat อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการคลอดของหนูน้อยในวันที่ต้องเผชิญกับพายุร้าย ซึ่งวันดังกล่าว มีเด็กมาคลอดที่โรงพยาบาลถึง6ราย
#หนูน้อยคลอดมาท่ามกลางพายุขึ้นฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช
#ผ่าตัดคลอดระหว่างไฟฟ้าดับ
ทารกแข็งแรงดี มารดาปลอดภัย เขาจะเป็นเด็กที่เกิดมาในช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่ควรค่าแก่การจดจำในชีวิต
วันนี้คลอด5ราย คลอดปกติ2ราย ผ่าคลอด3ราย ปลอดภัยดีทุกคนทั้งแม่และลูก
ผ่าตัดคลอดเนื่องจากมารดามีความดันสูงมากบวมหากไม่รีบทำคลอดมารดามีโอกาสชักได้ที่เรียกว่าครรภ์เป็นพิษ ทารกเพศหญิงแข็งแรงดี
แต่มารดาต้องส่งไปดูแลในห้องไอซียูหลังผ่าตัด แต่ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก
ฝนยังเทลงมาต่อเนื่อง
หนูน้อยกำเนิดอีกรายเป็นรายที่6ที่วันที่เกิดพายุถล่ม ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลขนอมเนื่องจากคลอดยากเกินเวลาที่กำหนด และสัญญานชีพเด็กไม่ปกติ ทีมสูติแพทย์ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์ และทีมพยาบาลถูกระดมทีมมาอีกครั้งเมื่อเวลา19.30น.เพื่อทำการผ่าตัดเร่งด่วน ทารกคลอดออกมาน้ำหนัก4,290gm ซึ่งถือว่าเด็กตัวโตคลอดปกติยากมาก หลังผ่าตัดมารดาปลอดภัย แต่ทารกน้อยต้องเข้าดูแลในหออภิบาลทารกวิกฤติดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมกุมารแพทย์ ยังต้องประเมินอาการเป็นระยะๆแต่เบื้องต้นประเมินอาการแล้วไม่น่ากังวลมากนัก
ทีมหออภิบาลทารกแรกคลอดในระยะวิกฤติเป็นอีกทีมที่ทำงานอย่างแข็งขัน เนื่องจากมีทารกในความดูแลถึง6ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง3ราย
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Arak Wongworachat