- 05 ม.ค. 2562
เปิดภารกิจร.ล.จักรีนฤเบศร ออกช่วยคนไทยเหตุพายุมาตั้งแต่ปี40 น้ำท่วมใหญ่ปี54กู้ชีวิตนทท.เกาะเต่า
จากกรณีที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อ"รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว "Jessada Denduangboripant" โพสต์ข้อความไปยันเพจ "ThaiArmForce.com" เนื้อหาระบุว่า "ถามแบบไม่ดราม่านะครับ แต่สงสัยจริงๆว่า เวลาเรื่อจักรีไปแล้ว จะช่วยอะไรผู้ประสบภัยได้บ้างในพายุครั้งนี้ ที่น่าจะเป็นบนบก ไม่ใช่ทะเลหรือเกาะแก่อะไร
ต่อมามีชาวเน็ตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ออกมาแสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว โดยโพสต์ผ่านกลุ่มวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทย ใจความว่า "ประทานโทษครับอาจารย์ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีเกาะนับไม่ถ้วน มีผู้อยู่อาศัยริมชายฝั่งรวมกับที่อพยพตามศูนย์พักพิงนับล้าน การมีเรือหลวงคือเป็นจุดประสานงาน เป็นจุดรวมทรัพยากร เครื่องอุปโภคบริโภค กระจายความช่วยเหลือ เปรียบเสมือนโรงพยาบาลรวมกับโกดังสินค้าเคลื่อนที่ครับ ปล ผมเองก็ไม่ชอบรัฐบาลทหาร แต่ให้ความเคารพพี่น้องทหารที่กำลังช่วยเหลือผู้ประสบภัยในขณะที่เรากำลังอยู่บ้านเล่นอินเตอร์เน็ต"
ทั้งนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ เรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ได้นำมาเปิดเผยไว้ จึงขอนำบางส่วนมานำเสนอถึงภารกิจดังนี้ ในปี พ.ศ. 2532 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์จังหวัดชุมพร กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งทางกองทัพได้ใช้เรือและอากาศยานในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ประสบปัญหาคือเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรือมีอยู่ขณะนั้นไม่สามารถทนสภาพทะเลได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทำได้ด้วยความยากลำบาก
“การมีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยจะสามารถใช้ในการค้นหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วและทันการ และหากว่ามีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือจะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวนและระยะเวลาในการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กองทัพเรือจึงได้มีแนวความคิด ในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจตามความมุ่งหมาย”
ทั้งนี้เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ลำแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระวางขับน้ำ 11,544 ตัน สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 9 ซึ่งคลื่นมีความสูง 13.8 เมตร
ภารกิจในอดีต
เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้มีภารกิจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังนี้
พายุไต้ฝุ่นซีตาห์
ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นซีตาห์ที่จังหวัดชุมพร เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ไปยังพื้นที่ประสบภัย และดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงจนการช่วยเหลือทางบกไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์จากเรือ นำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ
พายุไต้ฝุ่นลินดา
ในวันที่ 4–7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้ออกเรือเพื่อให้การช่วยเหลือเรือประมงในทะเล ที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นลินดาโดยลาดตระเวนจากสัตหีบไปยังเกาะกูด จังหวัดตราดจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดสงขลา
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ออกเรือเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 23–29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร ออกจากท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และจอดทอดสมอเรือบริเวณเกาะหนู จังหวัดสงขลา ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เริ่มปฏิบัติการโดยใช้การบินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และส่งชุดปฏิบัติการพิเศษพร้อมเรือยางลำเลียงเอาอาหารและสิ่งของจำเป็นมอบแก่ผู้ประสบภัย
เหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ
ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ และมีชาวกัมพูชาเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้รับความเสียหาย มีการเตรียมพร้อมในการอพยพเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยและประชาชนชาวไทยในกัมพูชาให้เดินทางกลับประเทศไทย ในแผน "โปเชนตง 1" และเตรียมพร้อมปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเกาะกงนอกน่านน้ำกัมพูชา เป็นการปฏิบัติการในชื่อแผน "โปเชนตง 2" โดยอากาศยานบนเรือเตรียมพร้อมปฏิบัติการในการใช้กำลังทางทหารต่อกัมพูชา หากมีความผิดพลาดเกินขึ้นในแผนโปเชนตง 1
ภัยพิบัติคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2547
ดูบทความหลักที่: แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547
ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยกองเรือยุทธการจัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล โดยมีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 760 นาย ซึ่งประกอบด้วยเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวรและชุดแพทย์เคลื่อนที่ โดยมีภารกิจหลักคือค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้การรักษาพยาบาลบริเวณเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเลด้านใต้ของเกาะภูเก็ต และเก็บกู้ศพและลำเลียงศพจากเกาะพีพีดอน นอกจากนั้นยังให้การสนับสนุนและรับการตรวจเยี่ยมจากนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะและกองทัพเรือ
เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย พ.ศ. 2553
ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ เดินทางถึงจังหวัดสงขลา โดยทอดสมอที่เกาะหนู เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เหตุการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี (เกาะเต่า)
ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 กองทัพเรือได้จัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสั่งการให้เรือหลวงจักรีนฤเบศรพร้อมด้วยอากาศยาน ร.ล.สุโขทัย และเรือของกองทัพเรืออีกหลายลำออกเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างบนเกาะเต่า โดยลำเลียงผู้ประสบภัยจำนวนทั้งสิ้น 743 คน เดินทางมายังท่าเทียบเรือจุกเสม็ด
ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย