- 07 ม.ค. 2562
นับแต่หนหลังมานี้ ดูกลายประหนึ่งว่าเสถียรภาพของ "พรรคอนาคตใหม่" เริ่มจะคลอนแคลนจนสมาชิกและเหล่าอดีตแม่ยกตลอดจนกองอวยถอยกรูด...กันระนาว สาเหตุก็หาใช่อันใดอื่น แต่เป็นปัญหาการใช้ "อำนาจ"
นับแต่หนหลังมานี้ ดูกลายประหนึ่งว่าเสถียรภาพของ "พรรคอนาคตใหม่" เริ่มจะคลอนแคลนจนสมาชิกและเหล่าอดีตแม่ยกตลอดจนกองอวยถอยกรูด...กันระนาว สาเหตุก็หาใช่อันใดอื่น แต่เป็นปัญหาการใช้ "อำนาจ" อันมิชอบต่อสมาชิกหน้าใหม่ที่หลงศรัทธาต่อตัวนายธนาธร ที่เป็นหัวหน้าพรรค ด้วยการปิดกั้นโอกาสมิให้เข้ามามีบทบาทภายในพรรคอย่างเท่าเทียม หากแต่ยกหางพลพรรคที่สนิทชิดเชื้อดุจเดียวกับ "ระบบอุปถัมภ์" ที่ย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อระบอบประชาธิปไตยที่ทางพรรคอุปาทานถือมั่นมาตลอด
รวมถึงพฤติการณ์ทำนอง "ซุกขยะไว้ใต้พรม" หลังจากสมาชิกมีทัศนะทางการเมืองไม่ตรงกันถูกเฉดหัวอย่างไม่ใยดี โดยที่ทางพรรคมิได้ให้ความกระจ่างต่อสาธารณะ หากมีเพียงถ้อยแถลงที่ดูจะคลุมเครือเสียมาก จนมีผู้อดรนทนไม่ได้ ออกมาสาวไส้กันเองแทบไม่เหลือชิ้นดี...แน่นอนมีบ้างประปรายที่เริ่มตาสว่างและตีจาก แต่ก็ยังมิวายหลงเหลือผู้เทิดทูนที่จมปลักอยู่ในวังวนอย่างไม่ลืมหูลืมตา...อยู่อย่างกระนั้น
จะด้วยเห็น "กงจักรเป็นดอกบัว" ก็สุดแล้วแต่จะคิด...หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ นโยบายของพรรคอนาคตใหม่แต่แรกเริ่มนั้น ก็ส่งกลิ่นอายจรุงใจให้ชนชาวซ้ายทั้งหลายหันมาจับจ้องตาเป็นมัน โดยหมุดหมายหลักคล้ายเป็นการพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกองทัพ...อย่างไม่กริ่งเกรงและหมิ่นเหม่ยิ่ง ด้วยพบว่ามีความเคลื่อนไหวนัยตรงกระทบต่อสถาบันกษัตริย์กับการปังธงรบต่อต้าน ม.112 อันมีเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติของสถาบันฯ
แต่ตัวนายธนาธร รวมถึงนายปิยบุตร กลับทำประหนึ่งไม่ใยดี...ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าใดเพราะหากย้อนดูปูมหลังโดยเฉพาะตัวนายปิยบุตร ที่เป็นภาพสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ตกผลึกมาจากการซึมซึมวัฒนธรรมการเมืองและประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศส ด้วยเพราะตัวเขาเองนั้นจบการศึกษาจากฝรั่งเศส...ดินแดนที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยกับการแลกมาด้วยคาวเลือด
“การปฏิวัติฝรั่งเศส” เป็นสิ่งที่เขาและชนชาวซ้ายเลือกที่จะสมาทาน และตีความว่าเป็นหนทางสู่ความศิวิไลซ์ แต่ข้อเท็จจริงกลับมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเหตุการณ์จลาจลในฝรั่งเศสได้มอบบทเรียนบางประการถึง “ความเป็นไปได้” ในการถดถอยของระบอบประชาธิปไตย ด้วยพบว่ามีกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รื้อฟื้นคืนสถาบันกษัตริย์ให้กลับมามีพระราชอำนาจ...ยามที่บ้านเมืองวิกฤตถึงขีดสุด อย่างเป็นปกติวิสัยที่สังคมจำต้องมีไว้ซึ่งสถาบัน “ตัวกลาง” ที่มีอำนาจทั้งในแง่ “พฤตินัย” และมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อ “จิตใจ” เพื่อไกล่เกลี่ยและยุติความขัดแย้ง
ดังจะเห็นได้ว่า ในแง่มุมหนึ่งอาจเข้าใจได้ว่าเป็นความตื้นเขินของชนชาวซ้ายบางกลุ่มที่ยังคงเทิดทูนในบริบทการเมืองของฝรั่งเศส แต่ย่อมไม่ใช่กับนายปิยบุตรด้วยดีกรีจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย จึงมิอาจปรามาศว่าตัวเขานั้นไม่รู้ความ หากเป็นความสุดโต่งหรือ “ซ้ายจัด” เสียมากกว่า และกับนายธนาธรเอง ที่รู้กันดีว่าเป็นนายทุนหนุนสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งที่นำเสนอ เนื้อหาแฝงนัยทั้งทางตรงทางอ้อมกระทบต่อสถาบันฯ
ก็ดูว่าจะไม่มีทีท่าว่าจะราข้อ...ต่ออุดมการณ์ที่ถือมั่นจนกระทั่ง “ประกาศปลดล็อคพรรคการเมือง” สอง “นักอุดมการณ์” ทั้งนายธนาธร และนายปิยบุตร กลับเปลี่ยนท่าทีกลายเป็น “นักการเมือง” จากประกาศกร้าวจะ “ยกเลิก” ม.112 เปลี่ยนมาเป็นไม่ยกเลิกแต่ “แก้ไข” ท้ายสุดกับคำยืนยันว่าจะ “ไม่ยุ่ง” กับ ม.112
หลายคนต่างปรารถนาให้เป็นเช่นนั้นไปจนตลอดรอดฝั่ง...แต่ดูท่าว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะขณะที่สถานการณ์การเมืองกำลังคาบลูกคาบดอกในช่วงโค้งสุดท้าย มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้รัฐบาลจำต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน ด้วยเพราะหากเป็นหมายกำหนดเดิมจะทับซ้อนกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” อันเป็นพิธีมาหามงคลของชนชาวไทยทั้งถ้วนมวลผอง แต่นายธนาธรกลับดึงดันให้มีการเลือกตั้ง สะท้อนอย่างประจักษ์ว่าตัวเขานั้นกลับมามีพฤติกรรมการพยายามลดคุณค่าและบทบาทขององค์พิธีการ และสถาบันฯ อีกครั้ง
ซ้ำร้ายยังยกอ้างเหตุผลทำนอง “เอาดีเข้าตัว” ความว่า การเลื่อนวันเลือกตั้งจะทำให้ทางพรรคได้เปรียบมีเวลาหาสมาชิกมากขึ้น แต่ทางพรรคไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะยิ่งเลือกตั้งช้าประเทศยิ่งเสียหาย
ความสั้นๆ...หากได้ใจความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งทีเขาพยายามหมกเม็ดและปรับตัวหวังจะได้รับการยอมรับในสนามการเมือง ก็ไม่พ้นธาตุแท้แห่งตน...แล้วท้ายสุด นายธนาธร จะเลือกเป็นนักการเมืองที่มีวาจาสวยหรู...หรือจะสลัดคราบกลับไปเป็นนักอุดมการณ์แข็งกร้าวดึงดันทุรังแก้ไขปรับเปลี่ยน...สาละวนอยู่กับนโยบายและเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” อย่างแต่เดิม