- 11 ม.ค. 2562
สืบเนื่องจากกรณีวันที่ 7 ม.ค. 2562 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคเดินทางไปที่หอประชุมเทศบาลตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อเปิดสถาบันพัฒนาการเมืองพิษณุโลกของพรรค โดยมี นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมแกนนำ น.ป.ช.ส่วนหนึ่ง มาร่วมเป็นกำลังใจ รวมทั้งปราศรัยให้ความรู้เรื่องการเมืองและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
สืบเนื่องจากกรณีวันที่ 7 ม.ค. 2562 นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคเดินทางไปที่หอประชุมเทศบาลตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อเปิดสถาบันพัฒนาการเมืองพิษณุโลกของพรรค โดยมี นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมแกนนำ น.ป.ช.ส่วนหนึ่ง มาร่วมเป็นกำลังใจ รวมทั้งปราศรัยให้ความรู้เรื่องการเมืองและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
โดยนายยงยุทธกล่าวว่า วันนี้ตนมาให้กำลังใจ ด้วยเห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสามัคคีกัน และเป้าหมายในวันนี้คือให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งในครั้งมีรูปแบบที่ต่างจากเดิม ซึ่งประชาชนและทางพรรคก็ต่างคาดหวังว่า จะเป็นการเลือกตั้งที่ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง ด้วยเพราะ 10 ปีที่ผ่านมาพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่สามารถปกครองได้ บ้านเมืองลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้ประเทศเสียโอกาส พรรคเพื่อชาติประกาศว่าเป็นเกาะกลางที่สามารถ พูดคุย อยู่ร่วมกันได้
แต่อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองและทำให้สังคมต่างต้องจับตามอง คือคำกล่าวตอนหนึ่งของนายยงยุทธ ระบุว่า "เราได้พยายามให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย 3 ครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ จึงขอโอกาสครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 4 หากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเลือกพรรคเพื่อชาติ ที่สำคัญจุดอ่อนที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะที่มาและอำนาจของ ส.ว. ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง และทำลายขีดความสามารถของคนไทย เช่น คนๆ หนึ่งแสดงความคิดเห็นที่ดี แล้วมีพรรคการเมือง นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะถูกตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกชี้นำพรรค อาจถูกยุบพรรคได้ ทำให้คนเก่ง คนดีขาดโอกาส"
นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณือย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าภายหลังทางนายยงยุทธ และพรรคฯ จะออกมาแถลงโต้หมายพยายามปัดประเด็นให้เป็นอื่น อย่างไรก็ตามล่าสุด 11 ม.ค. 2562 เว็ปไซต์ ไทยโพสต์ ได้เผยแพร่บทความของ นายแก้วสรร อติโพธิ ไว้อย่างน่าสนใจโดยระบุว่า
“เราได้พยายามให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย ๓ ครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงขอโอกาสครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ หากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเลือกพรรคเพื่อชาติ” ยงยุทธ ติยะไพรัช...พิษณุโลก ๖ มกราคม ๒๕๖๒
คำกล่าวข้างต้นของแกนนำระบอบทักษิณในร่างพรรคเพื่อชาติ ข้างต้น ยังผลให้ภาพบ้านเมืองหลังเลือกตั้งในอนาคตมืดหม่นลงในฉับพลัน ทางเลือกอันสับสนไร้ค่าถูกสร้างขึ้นมาอีกภาพหนึ่ง จากเดิมที่บอกว่าเราจะต้องเลือกทหารหรือประชาธิปไตย จะเอาลุงตู่หรือไม่เอาลุงตู่ ท่านตู้เย็นก็เติมมาอีกว่าเราจะให้ทักษิณกลับบ้านหรือไม่
ขณะที่เศรษฐกิจครัวเรือนฝืดเคือง คนใต้ขายลูกปาล์ม ๖๐ กิโล ได้เงินมาซื้อปลาทูเพียง ๑ กิโล ราคายางก็ตกต่ำตลอดกาล มาตรการปฏิรูปประมงก็ผลักดันต้นทุนธุรกรรมประมงไทยจนถีบตัวสูงลิ่ว โดนประมงพม่าเข้ามาทุบตลาดตลอดชายฝั่งแล้ว ส่วนข้าวไทยก็ยืนขาสั่น เพราะอินเดียเวียดนามทุ่มเทพัฒนาเกษตรกรรมเต็มตัว ประกาศจะขายข้าวให้ได้รายได้เพิ่มอีกสองเท่า ท่ามกลางความอับจนที่ลึกลงไปถึงพื้นฐานหรือแพลตฟอร์มเช่นนี้ ทางเลือกอุบาทว์ๆข้างต้นถูกผลักดันเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างไร
ทำไมการเมืองปัจจุบันถึงหนักแผ่นดินได้ถึงเพียงนี้???
ที่จะนำเสนอต่อไปนี้คือ สังเขปร่างคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของจำเลยคดี กปปส.ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยรับรองว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต่อต้านการเมืองที่หนักแผ่นดิน ใช้สิทธิเสรีภาพในระบบของระบอบประชาธิปไตยโดยผิดครรลองจนเติบใหญ่เป็นทรราชย์เลือกตั้ง
คำร้องนี้ขณะนี้เป็นรูปร่างแล้วอยู่ระหว่างพัฒนาข้อมูลให้สมบูรณ์ มาวันนี้พอดีการเมืองไทยเริ่มจะหนักแผ่นดินอีก ผมจึงขอนำเสนอให้ท่านผู้สนใจได้พิเคราะห์แล้วสังเคราะห์ดูบ้างว่า ที่ผ่านมานั้นการเมืองเรามาจมปลักอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร และถ้าจะเลือกตั้งกันต่อไป ทำอย่างไรจึงจะไม่ชิบหายเหมือนที่ผ่านมา
ต่อไปนี้คือความจริงและความถูกต้องที่กลั่นตัวเป็นคำร้องในระบบกฎหมายแล้ว
สังเขปคำร้องศาลรัฐธรรมนูญให้รับรอง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในคดี กปปส.
๑.บทบัญญัติรับรองสิทธิ : รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ส่วนที่ ๑๓ มาตรา ๖๙
“มาตรา ๖๙ บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
๒.“สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เป็นสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทย ใช้เพื่อยับยั้ง “เผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย” คือคณะบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยผิดครรลองรัฐธรรมนูญ ทำนองเดียวกันกับฮิตเลอร์ ที่จัดตั้งและพัฒนาขบวนการนาซี โดยอาศัยการเลือกตั้งใช้เวลากว่า ๑๐ ปี ก็ขึ้นครองอำนาจเด็ดขาด ใช้เสียงข้างมากงดใช้รัฐธรรมนูญ เป็นเผด็จการเต็มตัวในที่สุด “ระบอบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุน” (ชื่อนี้ตั้งโดย ศจ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันประกอบด้วยพรรคการเมืองและขบวนการมวลชน ก็เช่นกัน
๓.ระบอบนี้ถือการเมืองเป็นการลงทุนและถอนทุน ทั้งโดย พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว (ดูคดียึดทรัพย์) โดยทุนอื่นที่เข้าร่วมทุน (ดูทุนโทรทัศน์ คดีรถดับเพลิง กทม.) หรือโดยผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ยอมเข้าร่วมแปรสินทรัพย์ (สิทธิเลือกตั้ง) เป็นทุนประชานิยมต่างๆ ด้วย (ดูคดีจำนำข้าว) คิดอย่างนี้ทำอย่างนี้จึงผิดครรลองรัฐธรรมนูญชัดเจน
ระบอบนี้เคลื่อนไหวผิดครรลองด้วย เพราะตามครรลองรัฐธรรมนูญนั้น พรรคการเมืองต้องไม่จัดตั้งขบวนการมวลชนด้วยความเกลียดชัง เพื่อเอาประชาชนมาต่อสู้ทางการเมือง (ดูคดีก่อจลาจล ๒๕๕๓) ต้องไม่แบ่งแยกคนไทยตามชนชั้นหรือถิ่นกำเนิด หรือเขตเลือกตั้ง จนแตกแยกกันทั้งแผ่นดินสิ้นสมานฉันท์ ส.ส.ต้องเป็นผู้แทนคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะเหนือหรืออีสาน
ระบอบนี้ใช้ระบบโดยถือหลักว่า “หีบเลือกตั้งคือกฎหมายสูงสุด” ลิดรอนสิทธิเสรีภาพบทบาทของเสียงข้างน้อยทุกโอกาส ใครไม่มาจากเลือกตั้งอย่ามาขวาง ไม่ว่า ศาล,องค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งสถาบันสูงสุด มีเสียงข้างมากแล้วจะล้มหรือรื้อรัฐธรรมนูญก็ได้ (ดูคดีศาลยับยั้งการล้มหรือรื้อรัฐธรรมนูญ), ยอมตนอยู่ใต้อำนาจคนนอกระบบหนีคดี เพื่อเอาอำนาจประชาชนมาพานายกลับบ้าน เกิดรัฐบาลหุ่นเชิด พรรคหุ่นเชิด ผิดรัฐธรรมนูญตั้งแต่ลงเลือกตั้ง มาจนถึงกฎหมายนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชันก็ยังทำได้
๔.ที่กล่าวมาล้วนเป็นการแสวงอำนาจโดยผิดครรลองทั้งสิ้น ในส่วนความเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญนั้น ผ่านไป ๑๐ ปี ก็จัดตั้งปัจจัยอิทธิพลในสังคม ๔ ประการ คือ เงิน อำนาจ ความเชื่อ และพวกพ้อง จนสำเร็จ ใช้เงินสร้างอำนาจ–อำนาจสร้างเงิน, ใช้พวกสร้างอำนาจ-ใช้อำนาจสร้างพวก, ใช้อำนาจใช้เงินสร้างสื่อ-ใช้สื่อสร้างอำนาจสร้างพวก ฯลฯ พลวัตเหล่านี้พัฒนามา ๑๐ ปี โดนยุบพรรค ๒ ครั้ง, รัฐประหาร ๒ ครั้ง ต้องคดีเป็นสิบคดี จนนายและน้องต้องหนีคดีไปต่างประเทศ ก็ยังมีตัวตนฟื้นอำนาจได้เสมอจนทุกวันนี้ หรือแม้เลือกตั้งครั้งหน้าก็ตาม
๕.ขบวนการนี้แข็งแรงและอาละวาดเต็มตัว ตั้งแต่ยึดถนนบีบรัฐบาลประชาธิปัตย์ยุบสภาส่งน้องสาวเจ้านายเป็นนายกหุ่นเชิด ได้อำนาจแล้วไม่ทำหน้าที่ งานหลักคือพานายกลับบ้านให้ได้ จนเมื่อลงมือผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในพฤศจิกายน ๒๕๕๖ จุดนั้นก็ถือเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนใกล้ชิด ยับยั้งโดยกฎหมายและกลไกอื่นๆ ไม่ได้อีกแล้ว แม้กระทั่งยุบสภาก็ยังกล้าข้ามในหลวง ไม่เข้าเฝ้าถวายรายงานขอพระบรมราชโองการ ถ้าเปรียบเป็นงูเห่า ก็โตเต็มที่เลื้อยเข้ามาชูคอขู่ฟ่อๆ อยู่กลางบ้านแล้ว พอเจ้าของบ้านแห่ออกมา ก็หยุดผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษฯ เลื้อยหลบไปอยู่ใต้ตู้รองเท้า เช่นนี้ก็ต้องไล่ออกจากบ้านอยู่ดี จะอ้างว่าหยุดเห่าแล้วไม่ได้ ต้องถือว่าสิทธิต่อต้านโดยสงบของปวงชนชาวไทยเกิดขึ้นแต่บัดนั้น คือตั้งแต่ชูคอกัดรัฐธรรมนูญแล้ว คำร้องนี้จึงมีสาระสำคัญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ช่วยวินิจฉัยรับรองสิทธิต่อต้านโดยสงบของปวงชนชาวไทยตรงจุดนี้ด้วย
๖.จำเลยในคดี กปปส.และในคดีต่อต้านอื่นๆ จึงขอบารมีศาลให้ช่วยยืนยันสิทธิตรงนี้ก่อน ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับคำร้องนี้เมื่อใด ผู้ร้องก็จะขอให้ศาลยุติธรรมยุติคดีไว้พลางก่อน หากศาลพิจารณาเหตุผลตามข้อ ๒–๕ แล้ววินิจฉัยว่าเกิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ปวงชนจริงแล้ว คำวินิจฉัยนี้ก็จะผูกพันให้พนักงานอัยการต้องถอนฟ้องการกระทำที่ตนเห็นว่าอยู่ในกรอบต่อต้านโดยสงบออกไป ส่วนที่เห็นว่าน่าจะเกินเลยก็คงไว้ให้ศาลอาญาพิจารณาชี้ขาดต่อไปว่า จะมีความผิดหรือไม่หากศาลอาญาเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขตก็ลงโทษได้โดยอาจลดโทษได้ตามควร
๗.คำร้องนี้จึงไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงไปวินิจฉัยการกระทำของ กปปส.เลย เพราะขอให้พิจารณาถึงภัยอันเกิดจาก “เผด็จการพรรคการเมืองนายทุน” เท่านั้นว่ามีจริงหรือไม่ และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ภัยนี้ก็กำเริบชัดเจนใกล้ชิด จนปวงชนมีสิทธิต่อต้านแล้วหรือไม่เท่านั้น คำร้องนี้ขอให้ศาลดูที่เหตุการณ์บ้านเมือง ไม่ใช่ดูที่การกระทำของ กปปส.
๘.ประเด็นที่ว่า เกิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทยในพฤศจิกายน ๒๕๕๖ หรือไม่นี้ เป็นประเด็นร่วมในทุกคดีที่เกิดขึ้นในการต่อต้านเมื่อปีนั้น ทั้งคดีแกนนำ และคดีคัดค้านก่ารเลือกตั้งทั่วประเทศ ประเด็นนี้มีอยู่ในทุกคดี ต้องให้ศาลเดียวคือศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แล้วมีผลผูกพันทุกคดี จะปล่อยให้ศาลในคดีอาญาแต่ละศาลวินิจฉัยไปจนขาดเอกภาพไม่ได้
๙.สำหรับฐานอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น คำร้องนี้เห็นว่ามีรับรองไว้อยู่แล้วในส่วนที่ ๑๓ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ส่วนช่องทางนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗ (๓) ก็เทียบเคียงได้ การยื่นคำร้องก็ร้องต่อศาลได้โดยตรง เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในศาล และกระทบถึงสิทธิของจำเลยแล้ว เทียบเคียงได้กับกรณีตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
๑๐.ท้ายนี้ หากไม่ประสงค์จะให้เกิด “เผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย” ขึ้นมาอีก คำร้องนี้ก็ได้วิเคราะห์นำเสนอ เป็นตุ๊กตาไว้แล้วว่า มีข้อใดบ้างที่คนไทยพึงร่วมกันคิดและเกิดสำนึก จนตกลงร่วมกันได้ว่า ในภายหน้ามีการกระทำใดบ้างที่จะต้องไม่มีให้เห็นอีก การได้คิดแล้วตกลงปรับศีลและวินัยทางการเมืองเช่นนี้ต่างหากคือการปรองดองอันแท้จริง ที่ยังไม่เกิดขึ้นเลย เกิดขึ้นได้ ตกลงกันได้เมื่อใดบ้านเมืองหลังการเลือกตั้งคราวหน้าถึงจะสงบได้ ต่อไปนี้คือข้อที่สังเคราะห์ เสนอขึ้นมาเป็นตุ๊กตา ให้ใช้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันต่อไปเท่านั้น
ตัวอย่าง : ประมวลข้อห้ามที่สังคมไทยต้องคุยกัน เพื่อกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
๑) นายทุนที่ลงเล่นการเมือง จะต้องขายหุ้นสัมปทานในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ขายให้ญาติพี่น้องลูกหลานคนใช้คนขับรถ ฝ่าฝืนเมื่อใดจะอ้างว่าผิดพลาดโดยสุจริตไม่ได้ ต้องถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
๒) หุ้นในตลาดหุ้นไทยที่ให้บริษัทต่างประเทศเป็นตัวแทนจัดการหุ้น ต้องมีหนังสือยินยอมของเจ้าของหุ้นอนุญาตให้บริษัทมีหน้าที่ให้ข้อมูลผู้ถือหุ้นที่แท้จริง ตามคำขอ ก.ล.ต.ไทยเสมอ
๓) นักการเมืองใดมีบัญชีเงินฝากในต่างประเทศต้องถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องมาเป็นนักการเมือง
๔) นโยบายพรรคที่เสนอเพื่อรับเลือกตั้ง ต้องอยู่ในกรอบแนวนโยบายแห่งรัฐ นโยบายใดที่ไม่เป็นไปตามนี้ เช่น กฎหมายวางกรอบให้พยุงราคาข้าว ก็กลับล้ำเส้นให้รัฐบาลรับซื้อข้าวทั้งประเทศในราคาแพง นโยบายดังนี้จะรับรองไว้ในคำแถลงนโยบายหรือในงบประมาณแผ่นดินมิได้
๕) พรรคการเมืองจะจัดตั้งหรือสนับสนุนขบวนการมวลชน เพื่อเป็นเครื่องมืออาละวาดทางการเมืองของตนมิได้ พฤติการณ์เช่นนี้ต้องถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
๖) ผู้สมัคร ส.ส.ใด ไม่มีมติสาขาพรรครับรองการส่งสมัคร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นขี้ข้าของหัวหน้าพรรค กกต.ต้องปฏิเสธไม่รับสมัคร
๗) พรรคใดหรือรัฐบาลใดอยู่ใต้อำนาจและใช้อำนาจเพื่อตอบสนองประโยชน์ของต่างชาติหรือบุคคลนอกพรรค ทำตัวเป็นหุ่นเชิดหลอกประชาชน ต้องถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
๘) การใช้งบประมาณราชการหรือรัฐวิสาหกิจว่าจ้างสื่อมวลชนในการใด หรือใช้ลงทุนทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานราชการใด โดยมีใบหน้าหรือชื่อนักการเมืองฝากเป็นโฆษณาแฝง ต้องถือว่าไม่มียางอาย จะกระทำมิได้
๙) ข้าราชการการเมืองใด พรรคใด ใช้อำนาจหน้าที่หรืองบประมาณแผ่นดินโดยเลือกปฏิบัติเอื้อประโยชน์เฉพาะพวกพ้องหรือเขตเลือกตั้งไม่ถือตนเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศ ต้องถือเป็นพวกแบ่งแยกแผ่นดิน เป็นภัยต่อประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
๑๐) วิทยุหรือโทรทัศน์จะเป็นเครื่องมือชวนเชื่อของพรรคการเมืองใด หรือกลุ่มการเมืองใดไม่ได้ทั้งสิ้น ต้องถือเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาธิปไตย
๑๑) การจัดรายการ “พบนายกฯ” รายงานผลงานรัฐบาลในสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ทุกอาทิตย์จะกระทำมิได้ การสื่อสารต้องมีขอบเขต ประชาชนไม่ใช่กบที่ต้องโฆษณาชวนเชื่อทุกอาทิตย์
๑๒) การปฏิเสธ ให้ร้าย โจมตี การตรวจสอบของศาลหรือองค์กรอิสระ โดยพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใด ถือเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ อันเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
๑๓) ประธานและรองประธานของรัฐสภาหรือของคณะกรรมาธิการใด ที่ประพฤติตนไม่เป็นอิสระ ยอมตนอยู่ใต้บงการรัฐบาลหรือพรรคการเมือง ต้องถือว่าเป็นภัยต่อประชาธิปไตย
๑๔) ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ กับนักการเมือง ต้องเป็นอิสระจากกัน ไม่พึ่งพาหาประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ระหว่างกัน มิเช่นนั้นจะถือเป็นผู้บ่อนทำลายประชาธิปไตย
๑๕) การนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชันผู้มีอำนาจจะกระทำมิได้ นักการเมืองใดริเริ่มผลักดันกฎหมายดังกล่าว ให้ถือเป็นคนทรยศต่อประชาธิปไตย
๑๑ คำร้องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเสนอโดยผู้ร้องต่างๆที่เป็นจำเลยในคดี กปปส. ต่างก็จะเสนอต่อศาลในคดีของตน โดยชุดคำร้องเดียวกัน มีสาระขอให้ทุกศาลส่งคำร้องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของปวงชนเกิดขึ้นจริงๆ แล้วเมื่อ ๒๕๕๖-๒๕๕๗
คำร้องนี้เป็นไปตามมาตรา ๒๑๒ ทุกศาลต้องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเสมอ หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ผู้ร้องก็จะร้องขอให้ศาลอาญาพักคดีไว้ก่อน เมื่อใดที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผลก็จะเป็นดังนี้
๑๑.๑.ถ้าวินิจฉัยว่า เกิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ปวงชนจริง ทุกคดีที่สู้กับระบอบทักษิณ ก็จะได้รับผลอันเป็นคุณทั้งหมด ติดคุกอยู่ฐานขัดขวางเลือกตั้งก็ออกมาได้ ที่พิจารณาคดีอยู่ (เช่นคดี กปปส.) ส่วนหนึ่งอัยการก็ถอนฟ้องได้ (ส่วนที่เห็นว่าอยู่ในกรอบสันติวิธี) ส่วนที่ยังไม่ฟ้องก็ต้องยุติ (ถ้าเห็นว่าอยู่ในกรอบสันติวิธี)
๑๑.๒.ข้อต่อสู้เรื่อง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” นี้ จึงเป็นข้อต่อสู้ของมหาชน ที่ทุกคนที่ต้องคดี อาจหยิบยกขึ้นได้ทั้งนั้น สู้ขึ้นมาแล้วก็ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ผลของคำตัดสินจะส่งผลไปทั่วทั้งระบบกฎหมายและการเมือง.
หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "การเมืองหนักแผ่นดิน!" เขียนโดยแก้วสรร อติโพธิ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2562