- 28 ม.ค. 2562
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวเล็กน้อย หลังอุปทานอาจไม่ลดลงตามคาดการณ์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 - 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ม.ค. - 1 ก.พ. 62)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านและรัสเซียอาจไม่ปรับลดลงตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน จากความร่วมมือของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในการลดกำลังการผลิตลงทั้งหมด 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดา นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียคาดว่าจะยังไม่ปรับเพิ่ม เนื่องจาก แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara ในลิเบียยังคงปิดทำการชั่วคราวอยู่
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังยุโรปเตรียมประกาศใช้ระบบการชำระเงินสำหรับซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาดูปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียว่าจะปรับตัวลดลงตามที่ได้ตกลงไว้กับกลุ่มโอเปกหรือไม่ หลังรัสเซียอาจเผชิญกับปัญหาแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบแข็งตัว หากทำการลดกำลังการผลิตในช่วงฤดูหนาว
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งชั้นหินดินดาน (Shale basin) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 62 จะปรับตัวสูงขึ้น 63,000 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน ม.ค. 62 สู่ระดับ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- อุปสงค์น้ำมันดิบคาดว่าจะถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซาและมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลง ซึ่งสามารถสะท้อนได้จากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2561 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 นับเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกในปี 2562 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.5 ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน ต.ค. 61 ร้อยละ 0.2
- อุปทานน้ำมันดิบจากประเทศผู้ผลิตหลักมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังผู้ผลิตในและนอกกลุ่มโอเปกพยายามรักษาสมดุลน้ำมันดิบ โดยการปรับลดกำลังการผลิตลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ประกอบกับ แคนาดาปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อแก้ไขปัญหาท่อขนส่งน้ำมันดิบไม่เพียงพอ นอกจากนี้ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara ในลิเบีย ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงไม่กลับมาดำเนินการ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบจากลิเบียปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่าน
- ติดตามสถานการณ์การพิจารณาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวเนซุเอลา และตลาดน้ำมันดิบทวีปเอเชีย เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา โดยสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาเฉลี่ยราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดจากเวเนซุเอลา หากสหรัฐฯ ประกาศมาตราการคว่ำบาตรนี้ อาจส่งผลให้รายได้ของเวเนซุเอลาปรับตัวลดลง ทำให้จำเป็นต้องส่งออกน้ำมันดิบไปยังจีน อินเดีย หรือประเทศอื่นในทวีปเอเชียมากขึ้นแทน และมีความเป็นไปได้ที่เวเนซุเอลาจำเป็นต้องเสนอขายน้ำมันดิบต่อเอเชียในราคาที่ถูกลงอีกด้วย
-ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 4/61 ยูโรโซน รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-25 ม.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลของนักลงทุนต่อการเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการถอนตัวของประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ประกอบกับ อุปทานน้ำมันดิบอาจปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก ยุโรปเตรียมค้าขายน้ำมันดิบกับอิหร่านผ่านระบบการชำระเงินใหม่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก หลังผู้ผลิตกลุ่มโอเปกเผยโควต้าการลดกำลังการผลิตรายประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับลดกำลังการผลิตจนถึงเดือน มิ.ย. 62