- 31 ม.ค. 2562
การกล่าวอ้างของ นายวีระกานต์ ในลักษณะของการตั้งเป็นประเด็นทางการเมือง ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องโทษความผิดถูกจำคุก 5 ปี เป็นเพราะถูกผู้มีอำนาจสั่งการป้ายสีความผิด มีหลายนัยสื่อความ ทั้งการตอบโต้คำพิพากษาศาลฎีกา และ ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ไม่นับรวมการจุดกระแสให้เกิดความเห็นในหมู่แนวร่วมคนเสื้อแดง และประชาชนที่นิยมชมชอบ "ระบอบทักษิณ" ว่าสมาชิกครอบครัวชินวัตร โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
ถือเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองอีกครั้ง ของบุคคลระดับแกนนำคนเสื้อแดง นปช. อย่าง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ซึ่งวันนี้ประกาศตัวเป็นกองหนุนให้กับ "พรรคไทยรักษาชาติ" เคียงข้างกับแนวร่วมเสื้อแดงอีกหลายคน โดยเฉพาะ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากประกาศชัดเจน ท่วงทำนองว่า "พรรคไทยรักษาชาติ" จะเข้าไปทวงความเป็นธรรมให้กับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในสภาผู้แทนราษฎร หลังการเลือกตั้งที่เกิดจะขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562
ประเด็นสำคัญต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้น "พรรคไทยรักษาชาติ" เคยเจอกระแสข่าวระหว่างเปิดเวทีพบปะประชาชน ว่ามีนโนบายหรือแนวคิดจะนำ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศ กระทั่งแกนนำพรรคต้องออกมาปฏิเสธว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงความเห็นและข้อเสนอของชาวบ้านเท่านั้น
ตรงข้ามกับกรณีนี้่ เพราะนี่เป็นคำพูดของ "วีระกานต์" แกนนำคนเสื้อแดง นปช. และเกิดขึ้นบนเวทีการหาเสียงเลือกตั้ง ของพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยเนื้อหาสาระว่า "การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกข้อกล่าวหาว่าทุจริตการจำนำข้าวนั้น เป็นเพราะถูกผู้มีอำนาจบางคนนั่งหัวโต๊ะ แล้วตบโต๊ะให้หน่วยงานรัฐเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนั้นหลังจากเลือกตั้งหาก พล.อ.ประยุทธ์ เสวยอำนาจอีกสมัย ก็ต้องเจอกับพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งจะนำประเด็นการทุจริตที่รัฐบาล คสช.กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปสอบถามในรัฐสภา โดยตนขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตอบคำถามของ ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ให้ดีก็แล้วกัน รับรองว่าเจอกันแน่นอน"
ข้อพิจารณาก็คือ แนวทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ ที่อาสาจะเข้ามาทำงานในฐานะผู้แทนราษฎร ใช่หรือไม่ว่าจะเข้าไปในสภาฯเพื่้อทวงความเป็นธรรมให้กับบุคคลในตระกูลชินวัตร ซึ่งวันนี้หนีโทษคดีอาญาไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนข้อมูลต่าง ๆ หากมีการนำไปอภิปรายก็ย่อมหมายถึงการแสดงรายละเอียด ในเชิงแก้ต่างให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี
โดยองค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประธาน กขช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวงทบวง กรมในการกำกับ การระงับยับยั้ง หรือการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว
แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายส่อแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงกับพวกแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัท GSSG และบริษัท HAINAN GRAIN เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ตามประกาศของกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริต
โดยการได้รับส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ อันเป็นการแสวงหาระโยชน์ที่มิควรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรงถือได้ว่าเป็นการกระทุจริตต่อหน้าที่ในความหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติให้ความหมายคำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”คือ การปฏบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือการปฏบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติกรรมที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ต้องย้ำในประเด็นนี้ชัด ๆ เพราะการกล่าวอ้างของ นายวีระกานต์ ในลักษณะของการตั้งเป็นประเด็นทางการเมือง ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องโทษความผิดถูกจำคุก 5 ปี เป็นเพราะถูกผู้มีอำนาจสั่งการป้ายสีความผิด มีหลายนัยสื่อความ ทั้งการตอบโต้คำพิพากษาศาลฎีกา และ ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ไม่นับรวมการจุดกระแสให้เกิดความเห็นในหมู่แนวร่วมคนเสื้อแดง และประชาชนที่นิยมชมชอบ "ระบอบทักษิณ" ว่าสมาชิกครอบครัวชินวัตร โดนกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโพสต์ล่าสุดของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตามข้อความระบุว่า "ผมขอเตือนนักการเมือง ที่เอาคดีรับจำนำข้าว มาปราศรัยบิดเบือน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้ง ๆ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาออกมาแล้ว ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อย่ามาว่ากันนะครับ หมดเวลาของการบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้ว หลักของประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ถ้าบิดเบือน เขาเรียกว่าประชาธิปไตยบกพร่อง"
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ส่วนคำถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เกี่ยวข้องอะไรกับข้อหาการกระทำความผิด ในมุมมองของนายวีระกานต์ ก็ต้องย้อนกลับไปดูรายละเอียดข้อเท็จจริงบางส่วน ดังนี้
ข้อมูลแรกที่ต้องร่วมกันพิจารณาก็คือ นโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท มาจากไหน ตรวจสอบค้นกับคำแถลงนโยบายรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ชัดเจนว่าเรื่องการประกาศรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ มีการกำหนดไว้ในข้อที่ 1.11 เรื่องการยกระดับสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
"รัฐบาลจะดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ ”
และถ้าสอบเชิงลึกกว่านั้นก็มีข้อเท็จจริงซึ่งแสดงข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าวในราคา 15,000-20,000 บาทต่อตัน มาจาก ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่าน “ นิตยสารฟอร์บส์”เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2555 ว่า เขาคิดโครงการรับจำนำข้าวนี้แต่เพียงผู้เดียว เหมือนกับสโลแกนที่ใช้ตอนหาเสียง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”
“เราเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก ทำไมเราต้องขายข้าวในราคาถูก แต่ผู้เสียประโยชน์คือชาวนา รัฐบาลชุดนี้มีแนวคิดที่อยากให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ มีเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มิเช่นนั้นก็จะเลิกทำนาและไปทำอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อเราตัดสินใจที่จะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง เราต้องให้เกษตรกรอยู่ได้ ... นี่เป็นปรัชญาของเรา กลุ่มผู้ส่งออกจะต้องทำงานหนัก อย่าสบายเกินไปนัก พวกคุณต้องรู้จักการทำการตลาด ต้องรู้จักการแข่งขัน และจะทำให้ทั้งโลกหันมาซื้อข้าวไทยประมาณ 7 – 10 ล้านตัน เมื่อเราเริ่มมีข้าวในสต็อก ทุกคนอยากให้เราขาย แต่เราไม่ทำ”
ถึงตรงนี้ก็ชัดเจนใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.โครงการรับจำนำข้าวมาจากแนวคิดของทักษิณตั้งแต่เริ่มต้น และ 2.รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้นำมาประกาศเป็นนโยบายบริหารประเทศ ประเด็นต่อไปก็คือใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดในการดำเนินโครงการจำนำข้าว
จากการตรวจสอบกับหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 153/2554 ลงวันที่ 8 กันยายน 2554 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏรายชื่อผู้เกี่ยวข้องถึง 24 คน โดยมีนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน ฯลฯ
และกขช.มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ๆ อาทิ เสนอกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวต่อครม.ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้การจัดการข้าวสอดคล้องกันทั้งระบบและมีการพัฒนาต่อเนื่อง รวมถึงติดตาม กำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ โครงการที่อนุมัติ และดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและครม.มอบหมาย
ซึ่งแม้อีกประมาณ 4 เดือนต่อมา จะมีหนังสือคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 42/2555 เรื่องปรับปรุงและแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (สัดส่วนเพิ่มเติม) โดยมีสาระสำคัญ ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนรายชื่อกรรมการในบางตำแหน่งบุคคล อาทิ การยกเลิกตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ เหลือเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่จุดสำคัญว่าด้วยภาระรับผิดชอบโดยพฤตินัย และนิตินัย ก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรี ที่ยังปรากฎว่ามีการกำหนดให้คงการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ กขช. อยู่เหมือนเดิม
รวมถึงแม้ว่าต่อ ๆ มา การประชุมกขช. 8 ครั้งในรอบปี 2555 นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุม ภายในทำเนียบรัฐบาล มาเป็นห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ กระทรวงพาณิชย์ และบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เกือบทุกครั้งก็ คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในระยะหลัง ๆ แต่ทุกครั้งมติกขช.ก็จะมีการขออนุมัติจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกขช.ทุกครั้ง โดยเฉพาะการตัดสินใจของกขช.เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่มีมติให้ปรับลดราคาข้าวในโครงการรับจำนำให้เหลือ 12,000 บาทต่อตัน จนถูกกระแสคัดค้านจากกลุ่มชาวนาทั่วประเทศ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องยกเลิกแนวคิดนี้ไปในที่สุด
ขณะที่ประเด็นเรื่องของการทุจริต 4 สัญญาการซื้อขายข้าวตามปรากฎในคำพิพากษา ตรวจค้นแล้วมีรายละเอียดเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ เพราะ การซื้อขายข้าวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จะต้องดำเนินการโดย China National Cereals Oil and Foodstuff Import Export Corporation หรือ “COFCO” รัฐวิสาหกิจการค้าภาครัฐที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ธัญพืชของสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมถึงข้าว แต่ปรากฎว่ารัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับดำเนินการในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
เริ่มจากการให้ความเห็นชอบผลการเจรจาซื้อขายข้าว 2 ฉบับ ต่อ บริษัท กว่างตง จำกัด รัฐวิสาหกิจมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ สัญญาฉบับที่ 1 ตกลงซื้อขายข้าวทุกชนิดในสต็อกของรัฐบาลไทย ปริมาณ 2,195,000 ตัน ในราคาตันละ 10,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด ส่งผลให้เกิดเสียหายเป็นเงิน 9,717 ล้านบาท และสัญญาฉบับที่ 2 ตกลงขายข้าว 5% ข้าวเหนียว 100% ข้าวหอมมะลิหัก ปีการผลิต 2554/55 ปริมาณ 2,000,000 ตัน ทำให้ได้รับความเสียหาย 1,294 ล้านบาท
ต่อจากนั้นยังมีการลงนามให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทกว่างตง ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ตกลงขายข้าว 5% และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ปริมาณ 1,000,000 ตัน และมีการขอแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณข้าวขาว 5% อีก 1,300,000 ตัน รวมเป็น 2,300,000 ตัน ทำให้ได้รับความเสียหาย 5,694 ล้านบาท
รวมถึงยังให้ความเห็นชอบให้ทำสัญญากับ บริษัท ห่ายหนาน จำกัด รัฐวิสาหกิจของมณฑลสาธารณรัฐประชาชนจีน ตกลงซื้อขายข้าวเหนียวเอวัน ปริมาณ 65,000 ตัน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 162 ล้านบาท ซึ่งข้อตกลงตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ มีข้อพิรุธหลายประการ คือ วิธีการชำระเงินด้วยแคชเชียร์เช็ค รัฐวิสาหกิจผู้ซื้อสามารถนำข้าวไปขายต่อประเทศที่ 3 เพื่อการพาณิชย์ได้ มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มชนิดและปริมาณข้าวเรื่อยๆ โดยไม่มีการเจรจาต่อรองเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ รวมถึงต่อมาปรากฎข้อเท็จจริงว่าข้าวที่มีการลงนามซื้อขาย กลับถูกนำมาวนขายในประเทศไทย โดยไม่มีการส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือประเทศอื่นแต่อย่างใด!!