- 26 ก.พ. 2562
สุดยอดวิชาโกง!!! ครบ 9 ปีเต็มยึดทรัพย์ “ทักษิณ” จำไม่ลืมคำสาปแช่ง สุดท้ายดาบคืนสนอง...จบสิ้น(หวัง)กลับแผ่นดินไทย
ผ่านมาแล้วถึง 9 ปีเต็ม นับจากวันที่ 26 ก.พ. 2553 สำหรับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาฯให้ยึดทรัพย์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ตามคำฟ้องของอัยการสูงสุด ในสาระสำคัญว่าด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมือง แสวงหาทรัพย์สินอันมิชอบโดยกฎหมาย จนมีสถานะร่ำรวยผิดปกติ และมีการพิสูจน์ด้วยหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายทักษิณ ซึ่งพูดหลายครั้งว่ารวยแล้วไม่โกง เป็นบุคคลที่ได้มาทรัพย์สินการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะการไขว้ถือหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐในระหว่างสมาชิกครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลอดจนบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเป็นนอมินีทางธุรกิจ
อ้านข่าวประกอบ >>> 9 ปีเต็มคนไทยไม่ลืม!!! 26 ก.พ.ศาลฎีกาพิพากษายึดทรัพย์ "ทักษิณ" เจ้าของวาทกรรม "ผมรวยแล้วผมไม่โกง"!???
ทั้งนี้ในคำพิพากษาศาลฎีกาฯมีรายละเอียดหลายประเด็นสำคัญ ชี้ชัดว่า นายทักษิณ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่นักเมืองในเครือข่ายประกาศ ยอมรับเองว่า ยังคงเป็นต้นแบบแนวการทำงานทางการเมืองมาโดยตลอด รวมถึงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้ มีพฤติกรรมฉ้อฉลทางการเมืองในระดับไม่ธรรมดา
โดยองค์คณะผู้พิพากษาในขณะนั้น เห็นว่าการกระทำของนายทักษิณอยู่ในขอบเขตอำนาจที่จะวินิจฉัยความผิด ถูกที่เกิดขึ้นตามคำฟ้อง " ผู้ถูกกล่าวหา (ทักษิณ) ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ และขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯฉบับที่ 30 กรณีหาใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองก่อน ในขอบเขตศาลปกครอง ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (ไม่) กรณีตามคำร้องอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ โดยเฉพาะองค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ว่า ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้"
ส่วน 5 ประเด็นคำพิพากษาความผิดของ นายทักษิณ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นจากคำฟ้องว่าด้วยการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปหรือไม่ "องค์คณะผู้พิพากษามีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ผู้ถูกกล่าวหา หรือ นายทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 14,494,900,150 หุ้นตามคำร้องในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน 2 วาระ"
กล่าวโดยสรุปคือ มีข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือ นายทักษิณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กับเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้กระทำการปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ของ บ.ในเครือ เช่น บ.แอมเพิลริช บ.วินมาร์ค จำกัด แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยไม่ได้โอนหุ้นกันอย่างแท้จริง
อีกทั้งบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการดาวเทียม โทรศัพท์ และโทรคมนาคมต่างๆ จากรัฐ ได้ขายหุ้นแก่เทมาเส็ก แต่มีข้อเท็จจริงตรวจพบว่ามีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้คัดค้าน 76,621,603 บาท ซึ่งเป็นการมีประโยชน์ขัดกันระหว่างประโยชน์ตนกับประโยชน์ส่วนรวม ฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา ม.119 และ 122 แสวงหาประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่ง ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือ กำกับดูแลของผู้ถูกล่าวหากระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก
ข้อที่ 2 ว่าด้วยการแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และ พ.ศ.2546 "องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยเสียงข้างมากกว่า ผู้ถูกกล่าวหา หรือ นายทักษิณ ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตรา พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับและออกประกาศกระทรวงการคลัง รวมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ การกระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบ.ชินคอร์ปฯ จนเป็นเหตุให้รัฐได้ความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ รูปคดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการลิดรอนอำนาจของ กทช.หรือไม่อีกต่อไป"
กล่าวโดยสรุป คือ กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต มีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 - 50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส อีกทั้งจัดกระทรวงเทคโนโลยี เพื่อรองรับกิจการของตนและพวกพ้อง เป็นการบิดเบือนใช้อำนาจนิติบัญญัติเอื้อประโยชน์ให้เอไอเอส ทำให้รายได้รัฐลดลง และให้ต่างชาติมีส่วนถือหุ้นสูงขึ้น เพื่อจะได้ขายหุ้นตนได้ราคาสูงขึ้น
สำหรับประเด็นที่ 3 กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบริษัท เอไอเอส "องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยเสียงข้างมากว่า นายทักษิณมีส่วนในแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอส แต่เนื่องจากมีการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 แล้ว ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์จาการลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เป็นกลุ่มเทมาเส็ก
ประเด็นปัญหาที่วินิจฉัยต่อไปเรื่องการส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมที่ไทยคม 3 เห็นว่าสัญญาระบุให้การส่งดาวเทียมไทยคม3ขึ้นไปนั้น จะต้องมีดาวเทียมสำรองเป็นดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อใช้เป็นการสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น โดยบริษัทชินคอร์ปฯเป็นผู้ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 31ก.ย.34 แต่ขณะที่นายทักษิณ ได้มีมติให้เปลี่ยนแก้ไขไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมไทยคม 4 ก่อนเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ลงลายมือชื่อขอให้รับรองการประชุมในลักษณะหนังสือเวียน ต่อมารมว.คมนาคม มีหนังสือแจ้งไปยังบ.ไทยคมว่าได้อนุมัติให้ไอพีสตาร์แล้ว เห็นว่าการดำเนินการเรื่องนี้เป็นการดำเนินการลัดขั้นตอน รวบรัด เร่งรีบผิดวิสัย ซึ่งคุณสมบัติของไอพีสตาร์นั้นมีลักษณะเป็นดาวเทียมใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองให้ไทยคม 3 ที่มีคลื่นซีแบน และเคยูแบน แต่กลับแก้ว่าไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรอง ทำให้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยิงดาวเทียมไทยคม4 ทำให้บ.ชินคอร์ปไม่ปฏิบัติไปตามสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้เห็นว่าไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่ให้บริการต่างประเทศเป็นหลัก 94 เปอร์เซ็นต์ โดยรองรับการใช้อินเตอร์เนตในต่างประเทศ และใช้ภายในประเทศร้อยละ6 ถือว่าเป็นโครงการใหม่นอกสัญญาณสัมปทาน ซึ่งจะต้องเปิดประมูล ทำให้ไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยผู้ถูกกล่าวหาขณะที่เป็นนายกฯได้อนุมัติให้แก้ไขทางเทคนิค จึงมีมติเสียงข้างมากว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ปฯกับบริษัทไทยคม"
กล่าวโดยสรุป คือ กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.45 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมหรือ “โรมมิ่ง” และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายรวม เช่น บ.ดีพีซี ถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท เอไอเอส
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่น ก็มีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท และบริษัท กสท ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท จึงกลายเป็นว่า บริษัท เอไอเอส ได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว โดยมีบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส
ดังนั้น ผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าว จึงตกกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูง จนกระทั่งได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ จึงถือเป็นการได้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่
ต่อมาในประเด็นที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการส่งดาวเทียมไอพีสตาร์ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรองให้กับดาวเทียมที่ไทยคม 3 "องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปในไทยคม เป็นการกระทำ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคมผู้รับสัมปทานจากภาคโดยไม่สมควร ส่วนกรณีอนุมัติให้ใช้เงินสินไหมดทดแทน จำนวน 6.8 ล้านดอลาร์ สหรัฐ ไปเช่า สัญญาดาวเทียมต่างประเทศเมื่อดาวเทียมไทยคม 3 เกิดเสียหายนั้น องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ป และบริษัทไทยคม"
กล่าวโดยสรุป คือ กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบ 3 กรณี ประกอบด้วย การอนุมัติโครงการดาวเทียม และดาวเทียมสำรอง 2 ชุด รวม 4 ดวง แล้วปรับโครงการมาเป็นโครงการดาวเทียม IP STAR
การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ดาวเทียมในประเทศ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2547 โดยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้าง และส่งดาวเทียมไทยคม 1,2 และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 ที่ได้ส่งเร็วขึ้น พร้อมการได้ค่าสินไหมทดแทน 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วมีการขอแก้สัญญาต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ปฯ และบริษัท ชินแซทฯ เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่สามารถใช้แทนดาวเทียมไทยคม 3 ได้ ตามสัญญาและทำให้ไม่มีดาวเทียมไทยคม 4 จนทุกวันนี้ รัฐจึงเสียหายจากโครงการนี้ 4 พันล้านบาท แต่ในทางกลับกันผู้ถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ไปถึง 16,000 ล้านบาท
ประเด็นที่ 5 กรณีการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) จาก 3 พันล้านบาท เป็น 4 พันล้านบาท เพื่อประโยชน์บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ หรือไทยคม "องค์คณะผู้พิพากษามีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทไทยคมและชินคอร์ป"
กล่าวโดยสรุป คือ กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯโดยเฉพาะ โดยครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาสั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ อนุมัติวงเงิน 3,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า แล้วต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า
โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซท ฯ ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศได้ทักท้วงแล้ว (โดยการให้ข้อมูลต่อคตส. ว่าเคยชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของพม่า ว่า “ไม่สมควรจะมีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะกับประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไทยเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง” )
กรณีดังกล่าวจึงถือว่าผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวก มีผลประโยชน์ถือหุ้นอยู่ ในการให้ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่า เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายจากการเสนอกฎหมาย ภายใต้ข้อเท็จจริงสอดคล้องว่ามีเจตนาช่วยบริษัทตัวเอ
นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ. เป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ที่เป็นผลให้บริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมสามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับให้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.49 โดยปรากฏว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 49 มีการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง
ท้ายสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำนวนเงินที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 คู่สมรสได้จากการขายหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเงินปันผลของหุ้นบริษัทดังกล่าว บางส่วนเป็นเงินจำนวน 46,373,687,454.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยผล เฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากนับตั้งแต่วันฝากเงินจนถึงวันที่ธนาคารส่งเงินจำนวนดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ยกเว้นจำนวนเงินกว่า 30,247 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าเดิม
ประเด็นสำคัญ คือ หลังจากรับรู้คำพิพากษาศาลฎีกาฯ นายทักษิณ ซึ่งอยู่ในสถานะนักโทษหนีคดีอาญา ได้ออกแถลงการณ์ในเชิงตอบโต้กระบวนการยุติธรรมทันที โดยระบุถ้อยคำว่า แสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ... คล้ายกับเมื่อครั้งที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบ เพราะคนปักธงกับคนอุ้มรัฐเป็นคนเดียวกัน
ตนขอไว้ทุกข์ให้กับความดื้อของตัวเอง ที่ไม่ยอมเชื่อฟัง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยา และลูก ๆ ที่เคยห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเราเป็นเศรษฐีอยู่แล้ว ควรใช้ชีวิตแบบเศรษฐีดีกว่า ดังนั้นจึงขอโทษลูก ๆ ด้วย พร้อมกันยังได้ตัดพ้อว่า การเมืองใจดำ ขอให้ตนเป็นเหยื่อทางการเมืองคนสุดท้าย ตนเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่แล้วกลับเป็นเหยื่อที่ไม่ยุติธรรมที่สุด
พร้อมย้ำตนไม่เคยโกงใคร ซึ่งหากโกงจริง ขอให้ตนมีอันเป็นไป ภายใน 7 วัน 10 วัน แต่หากตนไม่ได้โกง ก็ขอให้ดาบนั้นคืนสนอง !!!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทักษิณขุดต้มยำกุ้ง พูดความจริงไม่แท้??? ยกคำสอน โลภทำให้พลาด ครอบครัวเดือดร้อน!?!
- "ทักษิณ"เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข??