"หน่วยซีล" เก็บอุปกรณ์ออกจากถ้ำหลวง เสร็จสิ้นแล้ว

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยชีล ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 110 นาย เข้าไปปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์ที่คงค้างอยู่ภายในถ้ำหลวง

วานนี้ (20 มี.ค.) กรณีกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยชีล ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 110 นาย เข้าไปปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์ที่คงค้างอยู่ภายในถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) จากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ตั้งแต่กลางปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดการขนย้ายอุปกรณ์หลักๆ ได้แล้วเสร็จแล้วโดยมีการระดมกำลังหน่ยชีล มณฑลทหารบกที่ 37 ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฯลฯ ทำการขนอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สื่อสาร หลอดไฟฟ้า สายไฟฟ้า ถังอ๊อกซิเจน เชือก ฯลฯ โดยทั้งหมดถูกนำมาจากภายในถ้ำส่วนลึกที่สุดประมาณ 2.30 กิโลเมตรตั้งแต่ก่อนถึงหาดพัทยาหรือพัทยาบีช สามแยก โถงที่ 1-3 ตามลำดับโดยพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่น้ำแห้งยกเว้นที่สามแยกที่ยังมีน้ำท่วมอยู่บางส่วนและพื้นที่ตอนในบริเวณหาดพัทยาหรือพัทยาบีชลึกประมาณ 2.150 เมตรหรือห่างจากสามแยกภายในถ้ำประมาณ 150 เมตรยังมีตะกอนทรายอุดตัน

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ขนย้ายออกจากถ้ำในวันนี้เป็นของหน่วยชีลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเป็นถังอ๊อกซิเจน เชือก ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังกันขนออกจากโถง 1 ไปยังยานพาหนะของทหารและนำส่งต้นสังกัดโดยเฉพาะหน่วยชีลในวันเดียวกัน โดยครั้งนี้ทาง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยชีล ได้มอบหมายให้ น.อ.สุริยัน สำราญใจ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยชีล นำเจ้าหน้าที่ทหารเรือขนย้ายอุปกรณ์กลับหน่วยและถือเป็นการอำลาปฏิบัติการขนย้ายที่ถ้ำหลวงเนื่องจากปฏิบัติที่กองอำนวยการฯ กำหนดจะมีขึ้นอีกครั้งระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.นี้จะเป็นหน่วยพลเรือนนำโดย ปภ.และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลักโดยจะไม่มีหน่วยชีลเข้าไปนำร่องเหมือนที่ผ่านมาอีก ทำให้เจ้าหน้าที่หลายนายที่จะเดินทางกลับต่างไปอำลาอนุสาวรีย์ของนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซมผู้เสียสละชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าถ้ำก่อนเดินทางกลับด้วย

 

\"หน่วยซีล\" เก็บอุปกรณ์ออกจากถ้ำหลวง เสร็จสิ้นแล้ว

ด้านนายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 ในฐานะผู้อำนวยการปฏิบัติการในครั้งนี้พร้อมด้วยนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 15 เชียงราย นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ น.อ.สุริยัน ฯลฯ ได้ร่วมกันแถลงปิดปฏิบัติการในช่วงแรกนี้โดยทางนายไพฑูรย์เป็นตัวแทนของ จ.เชียงราย มอบอุปกรณ์อินเตอร์คอมที่ใช้สื่อสารภายในถ้ำหลวงตลอดระยะเวลาปฏิบัติการที่ผ่านมาให้กับหน่วยชีลจำนวน 2 ชุดและมอบหลอดไฟส่องสว่างภายในถ้ำให้ด้วยจำนวน 40 ชุด เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของกองทัพเรือด้วย

นายไพฑูรย์ กล่าวว่าปฏิบัติการระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.นี้ได้มีหน่วยชีลนำร่องเข้าไปเพราะแม้จะมีการสำรวจที่ตั้งอุปกรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมาแต่เมื่อระยะเวลาเปลี่ยนไปสภาพภายในถ้ำก็ยังคงอันตรายโดยบางจุดสามารถเข้าไปได้ก็ทรายทับถม กระนั้นก็สามาถนำอุปกรณ์ออกมาตามเป้าหมายประกอบไปด้วยหัวใจสำคัญของปฏิบัติการคืออุปกรณ์การสื่อสารซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือวิทยุสื่อสาร 3 ชนิดที่มีการใช้การเชื่อมต่อด้วยอุปกรณ์อินเตอร์คอม ทำให้สามารถเชื่อมความถี่ถึงกันได้ทุกอุปกรณ์และแต่ละหน่วยหมดส่งผลให้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการช่วยเหลือและการเก็บกู้อุปกรณ์ครั้งนี้สามารถสื่อสารตั้งแต่ภายนอกถ้ำไปจนถึงสามแยกภายในถ้ำได้ นอกจากนี้มีเสาอากาศชนิดสะท้อนเสียง 45 องศาที่มีความอ่อนตัวสามารถไปตามแนวโค้งในถ้ำได้

 

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์มหัศจรรย์คือหลอดไฟส่องสว่างด้วยถ่านไฟฉายขนาดเล็ก ซึ่งใช้ห้อยตามผนังถ้ำได้นาน 5 วัน ซึ่งใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมภายในถ้ำทำให้ไม่สามารถต่อสายไฟฟ้าปกติเข้าไปเพราะอาจเกิดอันตรายได้โดยหลอดไฟเล็กดังกล่าวใช้ห้อยโยงกันเป็นแถวทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้โดยไม่เกิดอันตราย ที่เหลือเป็นถังอ๊อกซิเจน สายไฟ เชือกและอื่นๆ สำหรับภารกิจช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.นี้นั้นจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานพลเรือนเป็นหลักซึ่งจะเป็นการเข้าไปเอาอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เจ้าของทรัพย์ที่เสียสละมอบให้ช่วยปฏิบัติการเข้าไปด้วยเพราะต้องใช้การเปิดและปิดที่เป็นเทคนิคเฉพาะ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง   ลำดับเหตุการณ์ 18 วัน หมูป่า 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

อุปกรณ์ที่เหลือมีทั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มีกว่า 10 เครื่องแต่ละเครื่องต้องใช้กำลังคนนับ 10 คน ซึ่งไม่นับรวมเครื่องขนาดเล็กอีกนับไม่ถ้วน ท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งในด้านกำลังพลนั้นไม่มีปัญหาเพราะสามารถระดมกันไปได้อยู่แล้วแต่ปัญหาคือด้านเทคนิคและความปลอดภัยซึ่งตนก็ยังไม่แน่ใจว่าระยะเวลา 4 วันดังกล่าวจะแล้วเสร็จหรือไม่ด้วย

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่าขณะเดียวกันก็ยังมีอีกภารกิจคือสำรวจพื้นที่ตอนในตั้งแต่พัทยาบีชที่เจ้าหน้าที่เดินหน้าต่อไปอีก 50-80 เมตรก็จะถึงเนินนมสาวที่เด็กๆ ทีมหมูป่าเคยติดอยู่เพราะจากการเข้าไปครั้งนี้พบว่ามีเนินทรายทับถมอยู่ทำให้มีอุปกรณ์ เช่น ถังน้ำประมาณ 40 ถัง ฯลฯ ยังคงอยู่ข้างในซึ่งการสำรวจคงจะค่อยเป็นค่อยไปและเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก

 

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ

ด้าน น.อ.สุรยัน กล่าวว่าสำหรับถังอ๊อกซิเจนที่คงค้างอยู่ภายในมีจำนวนเกือบ 400 ถัง ซึ่งในครั้งนี้สามารถนำเอาออกมาได้จำนวน 337 ถัง และยังคงค้างอยู่ภายในประมาณ 40 ถังเนื่องจากไม่สามารถนำออกมาได้เพราะถูกทรายทับถม

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งหลอดไฟอัศฉริยะที่ใช้ถ่านไฟฉายทำให้อยู่ได้นาน 5 วันติดตั้งตั้งแต่โถงที่ 1 ไปจนถึงสามแยกภายในถ้ำเพื่อใช้นำทางสำหรับปฏิบัติการรอบที่ 2 ดังกล่าวเนื่องจากจะไม่มีหน่วยชีลคอยนำร่องเหมือนเดิมอีก โดยเมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะมีการนำถ่านไฟฉายเข้าไปเปลี่ยนเพื่อให้เกิดแสงสว่างเช่นเดิมและจะทำการขนย้ายอุปกรณ์หนักออกมาอีกครั้งโดยอุปกรณ์จะมีการพิจารณาส่งมอบคืนให้หน่วยงานเดิมหรือนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หน้าถ้ำหรือคงค้างไว้ภายใน

หน่วยชีล

ข้อมูลเพิ่มเติม การขนอุปกรณ์ถ้ำเจ้าหน้าที่ระบุว่าที่คงค้างรอขนรอบ 2 เช่น ปั้มน้ำขนาดใหญ่ นน. 110 กิโล 6 ตัว,อีก 80 กิโล 5 ตัว และ50 กิโล อีกกว่า 20 ตัว ฯลฯ ส่วนสิ่งที่จะทิ้งเอาไว้ไม่ขนออกคือท่อเอชดีพีอีหรือท่อน้ำสีเหลืองยาว ลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 200 เมตร โดยจะปล่อยทิ้งไว้เป้นประวัติศาสตร์เพราะใช้สำหรับผันน้ำออกแต่จะสำรวจข้อมูลก่อนส่งมอบให้กรมอุทยานฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในถ้ำต่อไป


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุดยอดหัวใจ!! "หมอแฮร์ริส" เปิดใจกับนายกฯออสซี่ ไม่ขอถูกยกย่องเป็นฮีโร่ เครดิตความสำเร็จช่วย13หมูป่า ยกให้หน่วยซีล+คนไทย!??
    
ไม่รู้อีกกี่ร้อยปีจะเกิดขึ้น!!! ชาวเน็ตเล่าความประทับใจ ภารกิจช่วย 13 หมูป่า ทำไมเรื่องนี้..ถึงมีเสน่ห์ตรึงใจคนทั้งโลก อ่านแล้วมันตรงทุกข้อ