- 25 มี.ค. 2562
พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 25-27 มีนาคม 2562)" ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2562
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 25-27 มีนาคม 2562)" ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2562 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงมีฟ้าผ่า
จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
โดยมีผลกระทบตามภาคต่าง ๆ มีดังนี้
วันที่ 25 มีนาคม
ภาคเหนือ จังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และกาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ในช่วงวันที่ 26-27 มีนาคม
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ภาคกลาง จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 17.00 น.
สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง
หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนตอนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง
ภาคเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 18-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ภาคกลาง อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และกาญจนบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมกระโชกแรง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมกระโชกแรง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งและมีลมกระโชกแรง ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมอุตุฯ เตือน 35 จังหวัด เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน!
- กรมอุตุฯ เผย 24-27 มี.ค. ไทยตอนบน รับมือฟ้าคะนอง เเละอันตรายจากฟ้าผ่า!
- กรมอุตุฯ เตือนฉบับที่ 2 พายุฤดูร้อน ถล่มทั่วไทย ระวังลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า