- 05 เม.ย. 2562
อย.ทลายแหล่งนำเข้า “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก” ย่านเยาวราช
อย. ร่วมกับ บก.ปคบ.และ บก.ป. แถลงผลปฏิบัติการทลายแหล่งนำเข้า “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก” ผลการตรวจพบยาแผนปัจจุบันกลุ่มยาแก้ปวด กลุ่มยาสเตียรอยด์ กลุ่มยาแก้แพ้ และกลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ เข้าข่ายจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ พร้อมด้วย เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภายใต้การนำทีมโดย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก.ปคบ.) พลตำรวจตรี ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พร้อมด้วยพันตำรวจเอกวินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค พันตำรวจเอกชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค และกองบังคับการปราบปราม พลตำรวจตรีจิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม พันตำรวจเอกสันติ ชัยนิรามัย รองผู้บังคับการปราบปราม พันตำรวจเอกแมน เม่นแย้ม ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม พันตำรวจโทมนูญ แก้วก่ำ รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม และพันตำรวจตรีจักรี กันธิยะ สารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม และ สสจ.นนทบุรี สสจ.เชียงราย สสจ.ราชบุรี ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก. ปคบ.) ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบแหล่งจำหน่าย “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก” ย่านเยาวราช ผลการตรวจวิเคราะห์พบกลุ่มยาแก้ปวด 3 ชนิด ได้แก่ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไพร็อกซิแคม (Piroxicam), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), พาราเซตามอล (Paracetamol), กลุ่มยา สเตียรอยด์ เดกซาเมธาโซน (Dexamethasone), กลุ่มยาแก้แพ้ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) และกลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซิลเดนาฟิล (Sildanafil) ซึ่งจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ จึงเข้าข่ายจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ พร้อมทั้งดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
นอกจากนี้ ยังทำการสืบสวนพบแหล่งนำเข้าและจำหน่ายรายใหญ่สำหรับกระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก” โดยใช้ช่องทางผ่านเว็บไซต์และเฟสบุ๊ก ซึ่งทำการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณผลิตภัณฑ์ชาว่า ใช้รักษาโรคกระดูก ปวดเข่า ไขข้อเสื่อม เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการเข้าตรวจสอบทั้งสิ้น 6 แหล่ง แยกเป็นกรุงเทพ 3 แหล่ง ต่างจังหวัดที่ราชบุรี/นนทบุรี และเชียงราย 3 แหล่ง ซึ่งเฟสบุ๊กที่ใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย ได้แก่
www.facebook.com/ยาจีนบำรุงกระดูก Liu Wei Zhuang Gu Su Rong Cha-healthyhomemaesai.com สถานที่อยู่อาศัย ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย
2. www.facebook.com/Good-Herbs-ชาจีนบำรุงกระดูก-236382867092573/ สถานที่อยู่อาศัย ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
3. www.facebook.com/สมุนไพรจีนกระป๋องเขียวบำรุงกระดูก Liu-wei-zhuang-Gusu-Rongcha-287473725019463/ สถานที่อยู่อาศัย ต.บ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
4. www.facebook.com/ยาจีนบำรุงกระดูก-โรคเก๊าท์-ข้อเสื่อม-108060823393433/ สถานที่อยู่อาศัย แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ
5. www.facebook.com/sirikwan30/ แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ (ที่อยู่ตามหน้าเฟซบุ๊ก)
6. https://www.facebook.com/monds.chai=1516175351 สถานที่อยู่อาศัย แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร
โดยการจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟสบุ๊กดังกล่าว มักพบข้อความโฆษณา เช่น “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก...ชาบำรุงกระดูก... บรรเทาอาการปวดข้อ เอ็น กล้ามเนื้อ โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ข้อเสื่อม กระดูกพรุน ...หายได้ ไม่ต้องผ่าตัด เห็นผลไว...เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ...ปลอดภัยไม่ใช้สารสเตียรอยด์”
โดยมูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้น 500,000 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2. หากผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์พบยาแผนปัจจุบัน จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ เข้าข่ายจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
3. กรณีเป็นผู้จำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้นั้นกระทำความผิดอีกภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้กระทำความผิดครั้งก่อน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. โฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
5. โฆษณาคุณประโยชน์คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดการหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า อย. และ บก.ปคบ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่นำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคให้ถึงที่สุด เพราะผู้บริโภคเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมากินนั้น เป็น “สมุนไพรจีนบำรุงกระดูก” หากรับประทานอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้าน ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนการเลือกซื้อ ได้ที่ Application “ตรวจเลข อย.” ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่ช่วยเข้าถึงมือผู้บริโภคได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้กับผู้บริโภค ย้ำอย่าได้หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายทางช่องทางใดก็ตาม ขอให้พิจารณาให้ ถี่ถ้วนก่อนซื้อ อย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างว่าสามารถให้ผลในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกัน
(ขอบคุณข้อมูลจาก:สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
123คนดีมีน้ำใจ