- 10 เม.ย. 2562
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี ให้จำคุก ร้อยตำรวจโท สุชาติ ศรีสิทธิเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 35 ปี ส่วนดาบตำรวจ สุเทพ ถิ่นโพธิ์วงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรย่อยลาดโตนด สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และดาบตำรวจ ปาลรัฐ รัตนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจ ภูธรอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี คนละ 30 ปี
ในข้อหาเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการละเว้นไม่จับกุมรถบรรทุกที่ติดสติ๊กเกอร์ ซึ่งบรรทุกของมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2553
โดยศาลจังหวัดนนทบุรี มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตาม 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลประกอบมาตรา 91 ให้จำคุก ร้อยตำรวจโท สุชาติ ศรีสิทธิเวช กระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 35 ปี ส่วน ดาบตำรวจ สุเทพ ถิ่นโพธิ์วงษ์ และ ดาบตำรวจ ปาลรัฐ รัตนะ กระทงละ 5 ปี รวมคนละ 6กระทง เป็นจำคุกคนละ 30 ปี
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ระบุว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"
ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติเห็นชอบตามความเห็นของอัยการสูงสูงที่จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ก่อนหน้านั้น เมื่อ วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีเรื่องสำคัญที่ควรแถลงให้สื่อมวลชนทราบ คือ เรื่องกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ เรียก รับเงินจากผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรและสถานีตำรวจนครบาล จำนวนหลายนาย ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เรียก รับเงินจากผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าโดยรถยนต์บรรทุก เพื่อละเว้นการจับกุมรถยนต์ที่บรรทุกสิ่งของมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีอื่น ๆ โดยมี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในช่วงประมาณปี 2539 - 2556 การประกอบกิจการขนส่งสินค้า โดยรถยนต์บรรทุกในประเทศไทย ได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายรวมกลุ่มกันในรูปแบบตามกฎหมาย เช่น สมาคมรถยนต์บรรทุกในภาค หรือจังหวัดต่าง ๆ โดยรายได้ของผู้ประกอบการจะขึ้นอยู่กับการบรรทุกสินค้าของรถยนต์ในแต่ละเที่ยว จึงมีผู้ประกอบการบางรายที่ต้องการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ได้ใช้วิธีการขนส่งสินค้าโดยพยายามบรรทุกน้ำหนักสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่รถยนต์จะสามารถนำไปได้ น้ำหนักที่บรรทุกจึงมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเหตุให้ถูกตรวจค้น จับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนักในเส้นทางต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ประกอบการจึงมีการตกลงกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ละเว้นการตรวจค้น จับกุม โดยตกลงให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ จากนั้น จะจัดส่งสติ๊กเกอร์พร้อมจำนวนรถยนต์บรรทุกและหมายเลขทะเบียนรถยนต์บรรทุกที่มีการตกลงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว
การจ่ายเงินเป็นไปในรูป ของการของการนำเงินไปส่งให้โดยตรง หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก และสติ๊กเกอร์รูปแบบต่าง ๆ จะพิมพ์ด้วยสีสะท้อนแสง (ในเวลากลางคืนเมื่อส่องไฟดูจะสะท้อนแสงเห็นได้ชัดเจน อาจเรียกว่า ป้ายเคลียร์ก็ได้) แล้วนำไปติดที่กระจกหน้ารถยนต์บรรทุก โดยราคาจำหน่ายสติ๊กเกอร์จะกำหนดเพียงหนึ่งเดือน มีราคาจำหน่ายโดยประมาณ ดังนี้
- สติ๊กเกอร์สำหรับรถยนต์บรรทุก (รถพ่วง) 18 ล้อ ราคาใบละ 4,500 บาท
- สติ๊กเกอร์สำหรับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ราคาใบละ 3,000 - 3,500 บาท
- สติ๊กเกอร์สำหรับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ราคาใบละ 2,000 บาท
สำหรับเรื่องกล่าวหานี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในกรณีมี สมาชิกสภาจังหวัดลำปางผู้หนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย และฟอกเงิน ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนแล้วพบว่า นอกจากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว สมาชิกสภาจังหวัด ลำปางบุคคลนี้ยังมีพฤติการณ์ร่วมกันจำหน่ายสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์บรรทุกให้กับผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดต่าง ๆ ในหลายพื้นที่จำนวนหลายนายมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย โดยมีพยานหลักฐานรายการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นประจำทุกเดือน ในลักษณะค่างวดหรือส่วย กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญา โดยร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวนฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ จำนวน 10 คน
ประกอบด้วย
1. พันตำรวจโท ชาลี วงศ์สมิง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
2. พันตำรวจโท สันติ จี้กังวาฬ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับการจราจร สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ
3. ร้อยตำรวจโท สุชาติ ศรีสิทธิเวช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
4. ดาบตำรวจ เทอดศักดิ์ แก้วสากล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่งานป้องกัน และปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. ดาบตำรวจ ปาลรัฐ รัตนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจ ภูธรอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
6. ดาบตำรวจ สมชาย เดชเรือง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (สืบสวน) สถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
7. ดาบตำรวจ คณากร หรือ สมควร เกิดมณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
8. ดาบตำรวจ สุเทพ ถิ่นโพธิ์วงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรย่อยลาดโตนด สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
9. ดาบตำรวจ ชวลิต ตองอ่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจนครบาลบางเสาธง
10. ดาบตำรวจ ไพโรจน์ โททัสสะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (จราจร) สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้เรียกรับเงินจากผู้ประกอบกิจการขนส่งโดยรถยนต์บรรทุก เพื่อเป็นค่าอำนวยความสะดวกหรือละเว้น การจับกุมรถยนต์บรรทุกหรือรถพ่วง ซึ่งบรรทุกสิ่งของมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกระทำความผิดในกรณีอื่น ๆ โดยพบหลักฐานว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงปี พ.ศ. 2545 ในลักษณะค่างวดหรือส่วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของพันตำรวจโทชาลี วงศ์สมิง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 10 คน ดังกล่าว มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลเป็นความผิด ทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบ ด้วยหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91
ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา ในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับเจ้าหน้าที่ ตำรวจดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และ 97 แล้วแต่กรณี ต่อไป จึงขอแถลงมาให้ทราบทั่วกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-แก๊งหัวใสอ้างบิ๊กทหารเรียกเก็บส่วยเดือนละ 800.- แลกสติกเกอร์ติดรถ Grab รับส่งในสนามบินเชียงใหม่จะไม่โดนจับ
-อธิบดีกรมป่าไม้สั่งสอบด่วน หลังรับร้องเรียน จนท.ป่าไม้เรียกรับส่วยขยายผลพบไม้ป่าสงวนอายุกว่า 100 ปี ถูกโค่น เพียบ
-ทลายโต๊ะพนันบอลออนไลน์กลางเมืองท่าบ่อ หลังเปิดห้องเช่าตั้งโต๊ะรับแทงพนันออนไลน์ ห่างรั้วโรงเรียน 200 เมตร อ้างจ่ายส่วยทหาร