- 12 เม.ย. 2562
ท่ามกลางกระแสสับสันอลหม่านที่เกิดขึ้นปมปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ และทิศทางของพรรคต่อจากว่าจะเดินไปในทิศทางใด ..ระหว่างเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล ยกมือหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่2
ท่ามกลางกระแสสับสันอลหม่านที่เกิดขึ้นปมปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ และทิศทางของพรรคต่อจากว่าจะเดินไปในทิศทางใด ..ระหว่างเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ตั้งรัฐบาล ยกมือหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่2 หรือจะเป็นข้อเสนอแนวทาง “ฝ่ายค้านอิสระ” จากกลุ่ม New Dem เพื่อแสดงจุดยืนว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรเลือกแนวทางการไม่ร่วมรัฐบาลกับขั้วใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค-หัวหน้าพรรคชุดใหม่ ที่คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม ภายหลังจาก ในวันที่ 9 พ.ค. 62 ไปแล้ว
ต่อมาได้ปรากฏ 4รายชื่อ ว่าที่ หัวหน้าพรรคคนใหม่ จากเดิมคาดการณ์กันว่าจะมีแคนดิเดต จำนวน 4 คน คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ตลอดจนเกิดกระแสดัน “นายหัวชวน” รีเทิร์น ให้กลับมารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคอีกครั้งเพื่อแก้วิกฤต กู้ศรัทธา “ประชาธิปัตย์” แต่ก็ดูเหมือนจะจุดไม่ติด ร้อนถึงเจ้าตัวต้องออกมาปฏิเสธว่า “ยังมีบุคคลในพรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่มีความเหมาะสม และมั่นใจว่าสถานะในพรรคปัจจุบันน่าจะมีส่วนช่วยงานในพรรคได้มากกว่า”
ล่าสุดปรากฏ ”ม้ามืด” ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ สปอตไลท์ทางการเมืองจับจ้อง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังได้โพสต์เฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็น-สะท้อนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นเป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ และมาตรา 189 ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา จากพฤติการณ์เมื่อปี 2558 โดยมีตัวแทนจากสถานทูต กว่า 10 ประเทศ อาทิเยอรมัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มาสังเกตการณ์ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อวันที่6เม.ย. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ... “ไทยต้องเด็ดขาดกรณีนักการทูตแทรกแซงกิจการภายในประเทศ” จนได้ใจสาวกเป็นยกใหญ่ ...บางช่วงระบุว่า
การที่บรรดาคณะทูตหรือชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศเช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอันเป็นกิจการภายในประเทศของไทยอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งบรรดานักการทูตเหล่านั้นย่อมตระหนักและทราบดีทั้งในฐานะนักการทูตมืออาชีพและโดยจรรยามารยาททางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเห็นว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องตอบโต้การกระทำอันไม่สมควรและไม่เหมาะสมของบรรดานักการทูตเหล่านั้นอย่างรุนแรงกับการกระทำมากกว่าการเรียกมาชี้แจง
สำหรับประวัติของนายพีระพันธุ์เรียกได้ว่า ไม่ธรรมดา นายพีระพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นหลานปู่พระยาสาลีรัฐวิภาค กับ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและประธานศาลฎีกา
ประวัติทางด้านการศึกษา จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโททางด้านกฎหมายอเมริกันทั่วไปและกฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง ในปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภา ฯ ของนายพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นายพีระพันธุ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครได้ ย้ายไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคส่ง พันเอกเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ลงสมัคร ส.ส.เขต แทน แต่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายพีระพันธุ์ได้ลงรับสมัครในเขต 3 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตพญาไท คู่กับ นายธนา ชีรวินิจ และ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา สามารถนำทีมชนะการเลือกตั้งทั้ง 3 คน โดยนายพีระพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็น อดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา
นายพีระพันธุ์ยังทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญอื่นๆ อีกหลายคณะ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ทั้งนี้ก็ต้องจับตาต่อไป.. ไม่ว่า “ประชาธิปัตย์” จะเลือกเดินไปในทิศทางไหน และใครจะชึ้นมากุมบังเหียนชูธงนำทัพ นั้นก็จะสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางพรรคประชาธิปัตย์ยืนหยันอยู่ในทิศทางใด จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่..หรือจะตัดสินใจเลือกเป็นฝ่ายค้านอิสระ...?