- 20 เม.ย. 2562
ทำดีแล้วแต่ขอให้สุด!! "ดร.สามารถ" เชียร์ "ลุงตู่" ใช้ม.44 เร่งรถไฟฟ้าสีเขียว ฝากท้ายเจรจา BTS ควบบริหารโครงการเพิ่มสะดวก ได้ค่าโดยสารถูกลง
ต้องถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร ยิ่งถ้ารัฐบาลในอนาคตสานต่อโครงการเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ประเด็นเกี่ยวเนื่องรถไฟฟ้า ในหัวข้อ ม.44 ดีอย่างไร?กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้
"เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เร่งรัดการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อให้มีการเก็บค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม ไม่เป็นภาระหนักแก่ผู้โดยสาร
รถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
1. ส่วนที่ 1 เป็นส่วนที่อยู่ในย่านธุรกิจซึ่งถือเป็น “ไข่แดง” ประกอบด้วยช่วงหมอชิต - อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ซึ่งได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสได้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ให้ลงทุนเองทั้งหมดพร้อมทั้งให้เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถด้วย ดังนั้น รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนนี้จึงมักถูกเรียกขานว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานระหว่าง กทม.กับบีทีเอสจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2572 แต่ กทม.ได้ทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เป็นผู้เดินรถต่อจากปี พ.ศ.2572 จนถึงปี พ.ศ.2585
2. ส่วนที่ 2 เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง เป็นการลงทุนทั้งหมดโดย กทม. และ กทม.ได้ว่าจ้างให้บีทีเอสเป็นผู้เดินรถจนถึงปี พ.ศ.2585 สำหรับช่วงสะพานตากสิน-บางหว้าได้เปิดให้บริการครบตลอดทั้งช่วงมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2556 ส่วนช่วงอ่อนนุช-แบริ่งได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2554
3. ส่วนที่ 3 เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต สำหรับงานโยธาเป็นการลงทุนโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ สื่อสารและตั๋วเป็นการลงทุนโดย กทม.
ทั้งนี้ กทม.ได้ว่าจ้างให้บีทีเอสเป็นผู้เดินรถจนถึงปี พ.ศ.2585 โดยได้เปิดบริการเดินรถช่วงแบริ่ง - สำโรงเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 และช่วงสำโรง-สมุทรปราการเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปี พ.ศ.2563
จะเห็นได้ว่าการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายใกล้แล้วเสร็จ แม้ไม่มีการประกาศใช้ ม.44 ก็ตาม อีกทั้งผู้ประกอบการเดินรถก็เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกันทั้ง 3 ส่วน ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั่นคือบีทีเอส ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าให้เสียเวลา แต่อย่างไรก็ตาม ม.44 จะช่วยประหยัดเวลาในการเจรจาต่อรองกับบีทีเอสเพื่อทำให้ได้อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรม ไม่เป็นภาระหนักต่อผู้โดยสาร เนื่องจากไม่ต้องทำตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน
ผมขอเสนอแนะให้กรรมการผู้มีหน้าที่เจรจาต่อรองกับบีทีเอสพิจารณาดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ใหม่ หรือรีเซ็ตการดำเนินงาน ด้วยการทำสัญญาสัมปทานใหม่กับบีทีเอส โดยให้บีทีเอสร่วมลงทุนและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เป็นระยะทางรวมประมาณ 70 กิโลเมตร ทั้งนี้จะต้องทำให้ค่าโดยสารถูกลง มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ประหยัดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ประหยัดเวลาการเดินทาง และลดอุบัติเหตุจราจร
ข้อเสนอของผมจะช่วยแก้ปัญหาการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย ด้วยอัตราค่าโดยสารที่ถูก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"บิ๊กตู่" เป็นประธานเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ปชช.ใช้ฟรี 4 เดือน
-1เมษายนนี้ บัตรสวัสดิการเเห่งรัฐ ใช้ขึ้นรถไฟฟ้า MRTได้
-ชาวขอนแก่นได้ยิ้ม รถไฟฟ้าสายแรกสุดถูก 15 บาท ตลอดสาย