- 25 เม.ย. 2562
ประเด็นการถือครองหุ้นสื่อฯ ของเหล่าบรรดานักการเมือง ผู้สมัครส.ส.ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตาม ม.98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และ ม.42(3) แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ที่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้นกลายมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย...
ประเด็นการถือครองหุ้นสื่อฯ ของเหล่าบรรดานักการเมือง ผู้สมัครส.ส.ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตาม ม.98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และ ม.42(3) แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ที่มีบทบัญญัติห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้นกลายมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคมไทย...
ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งถอนชื่อออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากนายภูเบศวร์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ จึงถือว่าผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่คนดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 และกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 โดยศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนายภูเบศวร์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา
หรือกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากการถือครองหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน โดยหุ้นดังกล่าวนายธนาธรและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา เคยถือหุ้นรวมกัน 900,000 หุ้น โอนไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเกิดคำถามว่าจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
แม้นายธนาธร และแกนนำพรรคอนาคตใหม่หลายต่อหลายคน ดาหน้าออกมาชี้แจง และแสดงเอกสารหลักฐานการโอนหุ้น ว่านายธนาธรได้โอนหุ้นไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ก่อนที่นายธนาธรจะลงสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 6 ก.พ.2562 แต่อย่างไรเสีย.. ได้นำมาซึ่งการ แจ้งข้อกล่าวหาของกกต. เมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2562
กกต.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. มีผู้ร้องว่านายธนาธรในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 1 เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งมีหลักฐานเบื้องต้นฟังได้ว่า นายธนาธรเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้นตั้งแต่ 1350001-2025000 กกต.จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร
ไม่เพียงแต่นายธนาธรที่ต้องลุ้นระทึก ..อีกด้านหนึ่งสปอตไลท์ทางการเมืองที่ถูกจับจ้องมาที่ความเคลื่อนไหวของ “ผู้กองปูเค็ม” หรือ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล อดีตนายทหาร และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลคุณสมบัติ ของผู้สมัครส.ส. รายอื่นๆ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งพรรคอนาคตใหม่ และพรรคการเมืองอื่นๆ รวม6พรรค ผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และได้รวบรวมเอกสารข้อมูลทั้งหมด จากนั้น เมื่อวันที่ 19 เม.ย.62 ที่ผ่านมา เดินยื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้ตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมือง 6 พรรค เนื่องจากยังถือครองหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน ถึงแม้บางแห่งปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง แต่ก็ยังเป็นความผิดเพราะยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ม.98 (3) ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนการหลอกลวงประชาชน แสดงถึงความเจตนาไม่บริสุทธิ์ จึงขอให้ กกต.ใช้อำนาจตรวจสอบกับกระทรวงพาณิชย์
โดย “ผู้กองปูเค็ม” กล่าวว่า สำหรับผู้สมัครที่ตนยื่นถอดถอนเป็นผู้สมัครของ 6 พรรคการเมือง รวม 32 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 10 คน นางอาภรณ์ สาราคำ ภรรยาของนายขวัญชัย สาราคำ แกนนำคนเสื้อแดง ผู้สมัคร ส.ส.อุดรธานี เขต 4 ถือหุ้น หจ.ซี.เอ็ม.แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง และหจ.อุดร เคเบิ้ล บอร์ดคาสติ้ง แอนด์ เทเลวิชั่น, นายนพดล ปัทมะ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ บริษัท ยูนิเวอร์แซล เทเลวิชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 5 ถือหุ้น บริษัท ซินดิเคท แอ็คเวอร์ไทซิ่ง จำกัด เป็นต้น
พรรคอนาคตใหม่ 7 คน ได้แก่ น.ส.นรีรัตน์ สุขวรรณรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.สระบุรี เขต 2 ถือหุ้น บริษัท บอส แอนด์ ธอส โปรเจคท์ จำกัด, นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ถือหุ้น บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด เป็นต้น
พรรคเสรีรวมไทย 6 คน ได้แก่ นายคมกฤษณ์ จ่าทองคำ ผู้สมัคร ส.ส.อุตรดิตถ์ เขต 1 ถือหุ้น หจ.สถานีวิทยุท้องถิ่นคลื่นมหาชนอุตรดิตถ์
พรรคเพื่อชาติ 5 คน ได้แก่ นายดามพ์ เผด็จดัสกร นักแสดงดาวร้าย ผู้สมัคร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 1 ถือหุ้น บริษัท วิชั่นคาวบอย เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ,นายเบาหวิว มณีแจ่ม ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 ถือหุ้น บริษัท วิรัชนะ โทรคม จำกัด เป็นต้น
พรรคพลังปวงชนไทย 2 คน ได้แก่ นายนุกูล คงชุบ ผู้สมัครส.ส.ชลบุรี เขต 7 ถือหุ้น บริษัท เวล โปรเกรส จำกัด ,นายอนุชา สิงหะดี ผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 4 ถือหุ้น บริษัท ตะวันออกโมเดิร์น มีเดีย พลัส จำกัด
และพรรคประชาชาติ 2 คน ได้แก่ นายธนวัฒน์ ศรีสุข ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 18 ถือหุ้น บริษัท ทาเลนท์ อันลิมิเต็ดเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด, นายธนกฤษ อธิรชานนท์ ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 6 ถือหุ้น หจ.อีสานเรดิโอ เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสนใจนั้น ผู้กองปูเค็มยังระบุอีกด้วยว่า “จากการตรวจสอบหลักฐานการถือครองหุ้นธุรกิจสื่อของผู้สมัครทั้ง 6 พรรคที่ร่วมกันลงปฏิญญาจัดตั้งรัฐบาล จะมีผลให้คะแนนของทั้ง 6 พรรคหายไป 286,805 คะแนน ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส.พึงมีหายไป 9 คน และส่งผลให้คะแนนของทั้ง 6 พรรค ไม่ใช่เสียงข้างมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้”
ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายชื่อทั้ง 32 รายชื่อ ก็จะพบว่า มีทั้งผู้สมัครส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ และแบบแบ่งเขต ทั้งว่าที่ส.ส. และผู้สมัครสอบตกผสมผสานกันอยู่ แน่นอนว่าหลังจากการตรวจสอบ แล้วเกิดพบว่ามีการกระทำผิดจริง ก็อาจจะทำให้จำนวนว่าที่ส.ส. หายไป ประมาณ 9 คน ตามการคาดการณ์ของผู้กองปูเค็ม
ก็ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลข จากผลการเลือกตั้ง หลังจากที่ทาง กกต. แถลงสรุปคะแนน 100% อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อนำมาคิดคำนวนตามวิธีที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ พรรคที่ได้ ส.ส. รวม ทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ มากที่สุด คือพรรคเพื่อไทย สามารถได้ถึง137 คน ซึ่งจะไม่ได้ส.ส.จากปาร์ตี้ลิสต์เลย ลำดับ2 เป็นพรรคที่มีคะแนนป๊อบปูล่าโหวต มากที่สุด คือ พรรค พลังประชารัฐ สามารถ ได้ส.ส.รวมทั้งสิ้น117คน ลำดับ3 พรรคอนาคตใหม่ ที่มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นหัวหน้าพรรค ได้ 80 คน ชนะขาดพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาเป็นลำดับ 4 ได้ส.ส. 53คน ลำดับ5 พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หะวหน้าพรรค ได้ถึง 51 คน
ลำดับ6 พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 11คน ลำดับ7 พรรคเสรีรวมไทย ได้ 10 คน ลำดับ8 พรรคประชาชาติ 7คน ลำดับ9 พรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน ลำดับที่10 พรรคเพื่อชาติ ได้ 5คน ลำดับที่11 พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังท้องถิ่นไทย ได้เท่ากับ 3คน ลำดับที่12 พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 และลำดับที่ 13 พรรคพลังปวงชน 1คน
โดยก่อนหน้านี้เป็นทางฝ่ายของพรรคเพื่อไทย พร้อมพรรคแนวร่วม รวม 6 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทย , อนาคตใหม่ , เสรีรวมไทย ,ประชาชาติ , เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ได้ร่วมแถลงชิงตั้งรัฐบาลอ้างฝ่ายประชาธิปไตยพร้อม "ลงสัตยาบรรณ" จะทำให้เสียงทั้งหมด รวมแล้วได้ 240คน... และหากรวมเศรษฐกิจใหม่ ของนายมิ่งขวัญ บวกเพิ่มเข้าไปอีก6 เสียง จะทำให้ ฝ่ายเพื่อไทย มีเสียงทั้งหมด 246คน ซึ่งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากหายไปอีก 9คนจากกรณีของการถือครองหุ้นสื่อ จะทำให้พรรคการเมื่องฝ่ายเพื่อไทย จะเหลือ 237 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาฯ ปิดประตูตาย หมดโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
( ทั้งนี้ การคำนวณ เป็นเพียงการคาดการณ์จำนวนว่าที่ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองเท่านั้น อย่างไรเสียต้องรอ ตัวเลขจากกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ..ในวันที่ 9 พ.ค. ที่จะถึง)
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องนี้ยังส่งผลไปถึงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ,นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ,พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ,พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะ นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบและรับผิดชอบของพรรคการเมืองนั้นๆ อาจเข้าข่ายความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุน ด้วยหรือไม่ ??
ทั้งนี้ มาตรา 49 วรรค 2 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อ จึงถือว่าหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จะต้องมีความรับผิดชอบในการส่งผู้สมัครที่คุณสมบัติไม่ครบด้วย ซึ่งตามกระบวนการ กกต.จะดำเนินคดีกับตัวผู้สมัครก่อน ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุว่า ผู้สมัครใดรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติมีสิทธิรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี จากนั้นจะต้องมีกระบวนการเอาผิดทางอาญากับหัวหน้าพรรคต่อ ฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 และมาตรา 86
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เดือด!! "ผู้กองปูเค็ม" ซัด"ปิยบุตร" หลังขู่ เข้าข่ายแจ้งความเท็จ? ถามเป้าหมายของคุณอะไร-หรือว่าแค่เห่าให้กลัว
-นักการเมืองอย่างนาย..น่ารังเกียจมาก! "ผู้กองปูเค็ม" จวกยับ นพดล ปมถือครองหุ้นสื่อลาม!