- 26 เม.ย. 2562
26 เม.ย.62 - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์เรื่อง "โคตรโง่โฮปเวลล์...!!??!!" โดยมีเนื้อหาดังนี้
26 เม.ย.62 - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์เรื่อง "โคตรโง่โฮปเวลล์...!!??!!" โดยมีเนื้อหาดังนี้
ค่าโง่อีกแล้ว...คราวนี้ไม่ใช่ค่าโง่ธรรมดา แต่เป็น “โคตรโง่” ครับ!!! ไม่รู้กี่ครั้งแล้วที่เราต้องเสียค่าโง่ให้กับการทำสัญญา โง่ๆของผู้มีอำนาจในหน่วยงานภาครัฐ
ตอนต้นๆของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็เกือบเสียค่าโง่ในกรณี “ค่าโง่คลองด่าน” แต่ก็มีความพยายามจากหลายๆฝ่ายรวม ทั้งผมด้วย ที่พยายามส่งความคิดเห็นไปถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยว ข้อง สุดท้ายรัฐบาลยอมถอยทั้งๆที่มีมติ ครม. ไปแล้วว่าให้ชำระ
“ค่าโง่คลองด่าน” ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน มาตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของรัฐบาลชุดปัจจุบันกลับจะต้องมาทิ้งท้ายด้วยการเสียค่า “โคตรโง่” ให้กับมหากาพย์โฮปเวลล์ เพราะเป็นเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่มีคนบอกผมว่าเมื่อ คำนวณดอกเบี้ยถึงปัจจุบันรวมเข้าด้วยแล้วจะเป็นจำนวนเงิน เกือบสามหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว ลองคำนวณดูกันนะครับ
เราต้องเสียค่าโง่จากการทำสัญญาของหน่วยงานของ รัฐในชั้นอนุญาโตตุลาการมาแล้วนับร้อยๆคดีมั้งครับ แต่ไม่ ค่อยเป็นข่าว หากตรวจสอบดูน่าจะพบว่าเราเสียเงินแผ่นดินไป กับความ “โง่” หรือ “แกล้งโง่” ของบรรดาผู้มีอำนาจภาครัฐ ที่ทำสัญญาหรือ ลงนามในสัญญาต่างๆเป็นเงินนับหมื่นล้าน บาทแล้ว หากรวมค่า “โคตรโง่” ครั้งนี้ด้วยจะเป็นเงินอีกเท่าไร
คดีเริ่มต้นที่โด่งดังที่สุด คือ คดี “ค่าโง่ทางด่วน” ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 ในฐานะเป็นประธานคณะ กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ผมและคณะกรรมาธิการได้เข้า ไปตรวจสอบ พบว่าเป็นมหากาพย์โกงชาติฉบับแรกที่มีการวาง แผนอย่างแยบยล เปลี่ยน “เงินใต้โต๊ะ” มาเป็น “เงินบนโต๊ะ” โดยอาศัยเงื่อนไขของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทาง ศาลเป็นเครื่องมือจากการ “ผิดสัญญา” ของภาครัฐ
ผมและคณะกรรมาธิการฯ ใช้เวลาตรวจสอบ สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานคดี “ค่าโง่ทางด่วน” เป็นปีๆ ตรวจสอบเอกสารหลักฐานสูงท่วมหัวอย่างละเอียด โชคดีที่เรามีพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนที่ทำงานเพื่อ ประโยชน์ของประเทศชาติอย่างสุดความสามารถ คือ ท่านอัยการอิสระ หลิมศิริวงษ์ ต้องขอชื่นชมท่านด้วย
ท่านได้ขอรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการฯ ไปเป็นพยาน หลักฐานเพื่อประกอบการต่อสู้คดีที่ชี้ให้เห็นว่า ที่มาของสัญญาและพฤติการณ์แห่งคดีส่อไปในทางทุจริต ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วเมื่อที่มาของสัญญาและประเด็นข้อ พิพาทเกิดจากการกระทำทุจริตจึงนับได้ว่าเป็นการกระทำอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจนสุดท้ายศาลฎีกามีคำ พิพากษาให้ภาครัฐชนะคดี แต่จะมีใครเกี่ยวข้องต้องรับผิดฐานทุจริตตามคำพิพากษาของ ศาลฎีกาบ้าง จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือจะ มีบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องในภายหลังต้องรับผิดด้วยหรือไม่นั้น จนวันนี้ยังไม่มีคำตอบ
กรณี “ค่าโง่ทางด่วน” นี้ถือได้ว่าศาลฎีกาได้วางหลัก เกณฑ์สำคัญทางกฎหมายไว้ว่า การเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ ในกรณีเกี่ยวกับสัญญาหรือการทำทุจริตใดๆหากเป็นผลจาก การทุจริตแล้ว ไม่อาจมีผลบังคับหรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้เพราะ
เป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยของประชาชน!!! หลายคนสงสัยว่าเหตุใดเราจึงต้องเสียค่าโง่จากการทำสัญญา ของหน่วยงานของรัฐบ่อยๆ มีที่มาอย่างไร จะแก้ไขได้หรือไม่
ที่มาของปัญหา
ปัญหา “ค่าโง่” เริ่มจากการนำระบบอนุญาโตตุลาการ มาใช้กับสัญญาภาครัฐที่รัฐทำกับเอกชน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
แต่เดิมเวลามีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาก็จะต้อง นำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ซึ่งภาคเอกชนมีความเห็นว่ากว่าจะหา ข้อยุติหรือมีคำพิพากษาได้ก็ใช้เวลามาก กระทรวงยุติธรรมใน อดีตจึงคิดนำระบบอนุญาโตตุลาการเข้ามาใช้แก้ไขปัญหาข้อ พิพาทเบื้องต้นในระหว่างเอกชนด้วยกัน นั่นคือการนำบุคคล ที่สามที่คู่กรณีหรือคู่พิพาทต่างเลือกให้มาทำหน้าที่เป็น อนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน และมีอีกหนึ่งคนที่ตกลงร่วม กันเป็นคนกลาง รวมสามคนเป็นคณะอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ชี้ขาดว่าใครถูกใครผิด ซึ่งตามปกติต่างฝ่ายก็จะปกป้อง ผลประโยชน์ของฝ่ายตนอย่างเต็มที่ จึงไม่มีปัญหา “ค่าโง่” ในคดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันเอง
ต่อมามีความคิดที่จะออกกฎหมายรองรับระบบ อนุญาโตตุลาการ และมีความพยายามที่จะนำระบบอนุญาโต ตุลาการมาใช้กับสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนด้วย อ้างว่าหากไม่ทำเช่นนี้แล้ว ต่อไปจะหาคนรับงานภาครัฐยากขึ้น เพราะหากมีข้อพิพาทต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมแล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่คดีจะเสร็จ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและพยายามชี้ ให้เห็นถึงช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การทุจริตที่ถูกกระบวนการตามกฎหมายจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ห้ามไม่อยู่ ต้านไม่ไหว เมื่อกระทรวง ยุติธรรมในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร สถานะปัจจุบันก็คือ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ครับ
ขณะนั้นมีความพยายามที่จะดำเนินการโดยเร่งรีบ ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณากฎหมายดังกล่าว ผมในฐานะกรรมาธิการฯ ได้เห็นความไม่ปกติหลายประการ เช่น จะให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผูกพันศาลเลย ผมกับกรรมาธิการอีกหลายท่านได้โต้แย้ง เพราะเป็นการล่วง ละเมิดอำนาจศาล ถ้าให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผูกพันศาลเลยเช่นนี้แล้ว จะต้องขึ้นศาลทำไมอีก สุดท้ายก็แก้ไขปรับลดระดับลงให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเอง ได้ด้วย
แต่ประเด็นสำคัญคือการกำหนดให้สัญญาภาครัฐอยู่ ในระบบอนุญาโตตุลาการด้วย ประเด็นนี้ต้านไม่อยู่ครับ มีความดึงดันจะให้ผ่านให้ได้ เสียงข้างน้อยจึงต้องแพ้มติไป จึงเป็นที่มาของมาตรา 15 ของพ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ว่า
“มาตรา 15 ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนไม่ว่าเป็นสัญญาทาง ปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการ อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ และให้สัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา”
มาตรา 15 นี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหา “ค่าโง่” ในเมืองไทยเราทุกกรณี
หากเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกันแล้ว คู่สัญญา ทั้งสองฝ่ายต่างก็จะปกป้อง ผลประโยชน์ของตนเต็มกำลัง ความสามารถ ไม่ยอมแพ้กันง่ายๆ แต่ในกรณีสัญญาภาครัฐ ไม่มีใครเป็นเจ้าของผลประโยชน์ภาครัฐที่แท้จริง ในขณะที่ผลประโยชน์ได้เสียมีมูลค่านับร้อยนับนับหมื่นล้าน บาท จะมีเจ้าหน้าที่รัฐกี่คนที่ทุ่มใจกับประโยชน์ของรัฐ ไม่ไป “ฮั้ว”เพื่อประเคนเงินให้เอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถระงับการนำ กรณีพิพาทระหว่าง รัฐกับเอกชนเข้าสู่ระบบอนุญาโตตุลาการได้ แต่คณะกรรมาธิการก็ยังสามารถที่จะวางกรอบการทำหน้าที่เพื่อป้องกัน การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่มีอำนาจชี้ขาดผลประโยชน์มหาศาลได้เหมือนศาลว่าหากใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สุจริต ให้มีความรับผิดทั้งแพ่ง และทางอาญาด้วยเช่นกัน โดยกำหนดไว้ในมาตรา 23 ดังนี้
“มาตรา 23 อนุญาโตตุลาการไม่ต้องรับผิดทางแพ่งในการกระทำตามหน้าที่ในฐานะ อนุญาโตตุลาการ เว้นแต่จะกระทำการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้คู่พิพาท ฝ่ายใดฝ่าย หนึ่งเสียหาย”
อนุญาโตตุลาการผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์ สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน สิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้ง ปรับ
ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่อนุญาโตตุลาการเพื่อจูงใจ ให้กระทำการ ไม่กระทำ การหรือประวิงการกระทำการใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ”
เพราะฉะนั้น พวกอนุญาโตตุลาการที่ไม่สุจริตจะต้องมี ความผิดต่อไปด้วยนะครับ
เราจะทำอย่างไรดีกับค่า “โคตรโง่โฮปเวลล์”
เท่าที่ทราบเกี่ยวกับคดี “โคตรโง่โฮปเวลล์” ในขณะนี้ มีเพียงว่าศาลปกครองสูงสุดมี คำพิพากษาให้ภาครัฐ ชดใช้เงินให้กับโฮปเวลล์เป็นเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท บวกดอกเบี้ยอีกจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยกลับคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลางที่วินิจฉัย ยกฟ้องเพราะโฮปเวลล์ยื่นฟ้องขาด อายุความ แต่ผมยังไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดของ เหตุผลและข้อวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดได้ในขณะนี้ว่าเหตุใดจึงเห็นต่างจากศาลปกครองกลาง จึงยังไม่อาจแสดงความ เห็นได้มากนัก อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตุและข้อเสนอ ดังนี้ครับ
ข้อสังเกต
1) ไม่เคยปรากฎสัญญาระหว่างภาครัฐกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นต้นเรื่องของปัญหา ให้สาธารณะรับทราบหรือตรวจสอบได้ว่ามีเนื้อหาข้อตกลงใน สัญญาอย่างไร มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน หรือเอื้อต่อการผิด สัญญาของภาครัฐ หรือส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ เหตุใดการบอกเลิกสัญญาของภาครัฐจึงกลายเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งๆที่ตามที่ปรากฎเป็นข่าวและตาม ข้อเท็จจริงนั้นโฮปเวลล์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำงานล่าช้าและไม่ เสร็จตามกำหนดและควรจะต้องเป็นฝ่ายเสียค่าปรับให้รัฐ
2) เรื่อง “โคตรโง่โฮปเวลล์” นี้มีการดำเนินการมาอย่าง เงียบมากทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการและในชั้นศาลปกครอง ผิดจากกรณีอื่นๆที่จะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆบ้าง ไม่มีใครทราบแน่ชัดในรายละเอียดในขณะนี้ว่าอนุญาโต ตุลาการในกรณี “โคตรโง่โฮปเวลล์” นี้ มีคำชี้ขาดว่าภาครัฐ บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์โดยไม่ชอบธรรมอย่างไร และโฮปเวลล์ มีความเสียหายรวมทั้งสิ้นถึงประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท จริงหรือไม่
3) ไม่เคยมีการตรวจสอบเลยว่ามีพฤติการณ์ใดแห่ง คดีที่มีลักษณะเป็นการกระทำทุจริตหรือเข้าข่ายที่ภาครัฐจะต่อสู้ทางกฎหมายอื่นต่อไปอีกได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของสัญญา การร่างสัญญา ข้อตกลงและเงื่อนไขของสัญญา
ข้อเสนอ
1) ให้เปิดเผยสัญญาระหว่างภาครัฐกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดต่อสาธารณะโดยด่วน และต้องรีบตรวจ สอบสัญญาดังกล่าวว่ามีลักษณะที่เอื้อประโยชน์หรือส่อไปใน ทางทุจริต รวมทั้งพฤติการณ์ต่างๆของผู้เกี่ยวข้องที่นำไป สู่การผิดสัญญา และในการต่อสู้คดี ว่ามีลักษณะที่ไม่สุจริตหรือ ไม่ เพื่อหาแนวทางที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาล ยุติธรรม อีกครั้ง เช่นเดียวกันกับกรณี “ค่าโง่ทางด่วน” และ “ค่าโง่คลองด่าน”
2) แก้ไขมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ที่ไม่มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทได้จริง และเป็นการเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้รัฐเสียหายอย่าง มหาศาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นว่า
“มาตรา 15 ห้ามมิให้นำวิธีการอนุญาโตตุลาการมาใช้ ในการระงับข้อพิพาทในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนไม่ว่าเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม”
3) เร่งออกกฎหมาย “ความรับผิดในการทำสัญญา ของหน่วยงานของรัฐ” มีหลักการให้ผู้ยกร่างและผู้ตรวจสอบ ร่างสัญญาของรัฐ รวมทั้งผู้ลงนามในสัญญา ต้องรับผิดต่อความ เสียหายของรัฐที่เกิดจากข้อสัญญาที่เสียเปรียบหากพบว่ามีการทุจริต หรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิด ความเสียหายแก่รัฐ
เร่งมือเถอะครับ ก่อนความเสียหายจะบานปลายไปมากกว่านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศาลปกครองสูงสุด สั่งคมนาคม จ่ายค่าโง่ โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท
- บทเรียนราคาแพง...เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ!! "ดร.สามารถ" แนะ 3 แนวทาง ป้องกันเสีย "ค่าโง่" ในอนาคต!