- 22 พ.ค. 2562
ถ้าเป็นจริงตามกระแสข่าวก่อนหน้า ว่า วันที่ 23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาเรื่องคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ถ้าเป็นจริงตามกระแสข่าวก่อนหน้า ว่า วันที่ 23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาเรื่องคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ตามความผิดแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 เรื่อง ข้อห้ามบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ถือเป็นประเด็นร้อนสุดที่ต้องเฝ้าติดตาม
เนื่องด้วยผลที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัย ย่อมเกี่ยวโยงกับอนาคตทางการเมืองของ นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในเชิงบวกและลบ แม้ว่าจะเป็นเพียงขั้นตอนแรกของกระบวนยุติธรรม ว่า จะรับคำร้องและหรือไม่ ด้วยองค์ประกอบข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ ซึ่งหากกรณีคำร้องดังกล่าวต้องตกไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ย่อมส่งผลให้นายธนาธรหลุดรอดจากข้อกล่าวหากระทำความผิด เรื่องการขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย หลังการสมัครรับเลือกตั้งไปโดยปริยาย
ในทางตรงข้ามตามมาตรา 82 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุขั้นตอนหลังจากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง”
โดยขั้นตอนทั้งหมดก็เป็นไปตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 วรรคสี่ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
อย่างไรก็ตามเพื่อความชัดเจนของกรณีทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ นายธนาธร “สนข.ทีนิวส์” ขอย้อนลำดับข้อมูลเหตุการณ์ทั้งหมดมานำเสนออีกครั้ง
เริ่มต้นจากวันที่ 22 มีนาคม 25562 สำนักข่าวอิศราได้เปิดประเด็น โดยการตั้งข้อสังเกต ภายหลังจากนายธนาธร ออกมาประกาศใช้แนวทาง Blind Trust สำหรับจัดการทรัพย์สิน ประมาณกว่า 5 พันล้านบาท โดยมอบหมายให้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด เป็นผู้ดูแลแทน เสมือนว่าจะทำหน้าที่เป็นนักการเมืองด้วยความโปร่งใส
พร้อมแสดงหลักฐานเป็นเอกสารการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำนวน 675,000 หุ้น ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อนดำเนินการโอนไปให้ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นแม่ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 หรือ ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพียง 3 วันเท่านั้น
และนี่จึงเป็นที่มาของสืบค้นในลำดับต่อๆมา เนื่องจากกรณีการขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ถ้าหากเป็นการดำเนินการในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ก็เท่ากับว่านายธนาธร ซึ่งยื่นรายชื่อสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 อาจเข้าข่ายกระทำความผิด
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 ซึ่งระบุถึงข้อห้าม บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะเนื้อความในวงเล็บ (3) ระบุชัดเจนถึงข้อห้าม สำหรับบุคคลที่เข้าข่าย การเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
เพราะเท่ากับว่าในวันสมัครรับเลือกตั้งของนายธนาธร มีข้อพิจารณาทางกฎหมายว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ???
วันที่ 23 มีนาคม 2562 เป็นครั้งแรกที่ นายธนาธร ออกมาแก้ต่างในประเด็นการถือครองหุ้นสื่อ ในนามบริษัทวี-ลัค มีเดีย ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า มีการโอนดังกล่าวไปตั้งแต่ 1 เดือนก่อนลงสมัครเลือกตั้ง หรือในวันที่ 8 มกราคม 2562 และกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความพยายามสกัดกั้นทางการเมืองเท่านั้น
ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เนื่องเพราะมีรายงานการส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า การโอนหุ้นจริงเกิดขึ้นเมื่อใด และบริษัททำการจดแจ้งลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้วเมื่อใด
ขณะเดียวกันก็มีประเด็นข้อสงสัยตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จำนวนผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ด้วยปรากฏผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 10 คน ทั้ง ๆ ที่นายธนาธรยืนยันมาโดยตลอดว่า ตนเองและภรรยา ได้ขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562
ประเด็นน่าสนใจก็คือ การเจาะลงลึกในจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุม บริษัทวี-ลัค มีเดีย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ทำให้ในวันที่ 2 เมษายน 2562 นายธนาธร ต้องออกมาอธิบายร่ายยาว เน้นย้ำว่าการขาย-โอนหุ้น จำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายใบหุ้น ตั้งแต่ 1350001 ถึง 2025000 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 หรือ ก่อนจะยื่นสมัครรับเลือกตั้งต่อกกต.
ส่วนประเด็นข้อสงสัยว่าทำไมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ยังคงมีผู้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเต็มตามจำนวน 10 คน นายธนาธ รอ้างว่าเนื่องมาจากในวันที่ 14 มกราคม 2562 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มีการโอนหุ้นให้หลานชาย 2 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหุ้นเดิมที่นายธนาธร เคยถือครองรวมอยู่ด้ว จากนั้นในวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลานชายทั้งสองก็โอนคืนกลับมาให้นางสมพรอีกครั้ง
ด้วยคำชี้แจงดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า นอกจากจะไม่ได้อธิบายในข้อสงสัยแล้ว ยังกลายเป็นปมปริศนาและข้อคำถามตามมาอีกมากมาย ว่าทำไม ต้องมีการโอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ไปมาระหว่างบุคคลในครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ
โดยเฉพาะข้อคำถามจาก “สนข.อิศรา” ว่า “ การเพิ่มชื่อหลานชายขึ้นมาอีก 2 คนเป็นผู้รับโอนหุ้น เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 19 มีนาคม 2562 ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนวันที่ 22 มีนาคม 256 ซึ่งระบุว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม 10 คนหรือไม่?? ”
ตามด้วยการเคลื่อนไหวอีกครั้งของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ในการเข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อ กกต. เพื่อนำสอบในประเด็นนิติกรรมอำพราง สืบเนื่องจากโอนหุ้นไปมาระหว่างนางสมพร กับหลานชายทั้ง2 คน
ความคลุมเครือในข้อกังขาเรื่องการถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่ได้จบเท่านั้น การให้สัมภาษณ์ของนายธนาธร กับสื่อไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ยิ่งขมวดปมเรื่องนิติกรรมอำพรางให้แน่นมากขึ้น
เมื่อนายธนาพรเป็นคนให้ข้อมูลเองว่า เช็คสั่งจ่ายจำนวน 6,750,000 บาท เพื่อชำระเงินค่าหุ้นบริษัทวีลัค-มีเดีย ระหว่างนางสมพรกับนายธนาธร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ยังไม่ได้มีการนำไปขึ้นเงินเลย ทั้ง ๆ ที่เวลาของการทำธุรกรรมขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ผ่านมานานเกือบ 3 เดือน
ข้อมูลต่าง ๆ ที่กลายเป็นหลักฐานอ้างอิง นำส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย การกระทำผิดของนายธนาธร กรณีการถือครองหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย มีรายละเอียดมากมายในช่วงระเวลาที่ดำเนินเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2562 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562
บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ดำเนินการส่งสำเนาบัญชี รายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุกิจการค้า ตามเอกสาร บอจ.5 แสดงรายละเอียดหมายเลขหุ้นที่นายธนาธร เคยถือครองตั้งแต่ก่อนวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังปรากฏอยู่เหมือนเดิมว่า ลงวันที่ 21 มีนาคม 2562
ไม่ใช่ 8 มกราคม 2562 ตามที่นายธนาธร ยืนยันว่าเป็นวันขาย-โอนหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ผ่านเอกสาร “ตราสารโอนหุ้น” ซึ่งถือเป็นเอกสารภายในบริษัท สำเร็จครบถ้วน โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงทางกฎหมายจริง ๆ คืออะไร !!