- 28 พ.ค. 2562
ในเว็บไซต์ “สถาบันพระปกเกล้า” ได้เผยแพร่บทความ “การกวาดล้างฝ่ายซ้ายและหัวก้าวหน้าภายหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ.2519” ผู้เรียบเรียง พิสิษฐิกุล แก้วงาม , ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ระบุว่า...
ในเว็บไซต์ “สถาบันพระปกเกล้า” ได้เผยแพร่บทความ “การกวาดล้างฝ่ายซ้ายและหัวก้าวหน้าภายหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ.2519” ผู้เรียบเรียง พิสิษฐิกุล แก้วงาม , ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต ระบุว่า...
กลุ่มปัญญาชนก้าวหน้าในสังคมไทยส่วนมากคือผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 ส่วนมากเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เสรีนิยมหัวก้าวหน้า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและ นักการเมืองที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม คนกลุ่มนี้บางส่วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการปฏิวัติในจีนและเวียดนาม บางส่วนได้มาจากการศึกษาหรืออ่าน หนังสือการเมืองแนวมาร์กซิสม์จากยุโรปและออสเตรเลีย อาทิ หม่อมเจ้าสกลวรรณ, สุภา ศิริมานนท์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นต้น พวกเขาได้มีบทบาทในการ เผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมค่อนข้างคึกคักนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งพวกเขาได้เข้าร่วมในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นด้วย จนถึงหลังสงคราม เมื่อบรรยากาศทางการเมืองในประเทศมีเสรีภาพมากขึ้น และบรรยากาศทางการเมืองของโลกก็มีส่วนเปิดกว้างต่อแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการและ สังคมนิยม
รู้จัก คำสั่ง 66/23 พล.อ.เปรม “การเมืองนำการทหาร” สลาย คอมมิวนิสต์ ในไทย
คงในหมู่ประชาชนทั่วไป
พวกปัญญาชนก้าวหน้าอยู่นอกวงราชการและศูนย์อำนาจทางการเมือง อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ สุภา ศิริมานนท์ ค่อนข้างมีความคิดแบบเสรี ประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า นับถือประชาชนชั้นล่าง ไม่ยึดติดอยู่กับความเป็นปัญญาชนชั้นนำ หรือระบบข้าราชการมากนัก แต่พวกเขาก็เผยแพร่แนวความคิดได้จำกัด คือ นอกจากจะถูกเซ็นเซอร์จากฝ่ายหัวเก่า ที่มีอำนาจมีอิทธิพลมากแล้ว ก็ยังจำกัดในแง่ความเป็นปัญญาชนชั้นกลางที่ไม่สามารถสื่อกับคนในวง กว้างได้มากนัก นอกจากนี้ผู้มีการศึกษาที่มีความสนใจหรือมีความตื่นตัวทางการเมืองและสังคมบางกลุ่มในบางยุคสมัย ที่ปัญญาชนฝ่ายค้านพอมีเสรีภาพ ในการเผยแพร่ความคิดของตน
ปัญญาชนเสรีนิยมก้าวหน้าและปัญญาชนฝ่ายซ้ายถูกกวาดล้างขนานใหญ่ หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารครั้งที่สองในปี 2501 ทำให้ส่วนใหญ่ของ พวกเขาหมดบทบาทไป มีส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเมื่อถูกปราบปรามในเมือง ก็ไปตั้งต้นขยายงานในชนบทอย่างลับๆ แต่กล่าว โดยทั่วไปแล้วก็อาจจะเรียกได้ว่า ปัญญาชนเสรีนิยมก้าวหน้าค่อนไปทางซ้ายหมดบทบาทไปตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2501-2516 และไม่ได้มีอิทธิพลต่อบทบาทและ ความคิดของปัญญาชนรุ่นทศวรรษ 2510 ซึ่งเติบโตมาในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์จอมพลถนอม ถูกตัดขาดจากผลงานทางปัญญาของปัญญาชนก้าวหน้า รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจเกือบโดยสิ้นเชิง
จนกระทั่งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นปัญญาชนเสรีนิยมหนุ่มสาวในสมัยนั้น เป็นผู้มีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จนเป็นผลให้มีเสรีภาพในการเผยแพร่ความคิดได้อย่างอิสระในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 งานเขียนของปัญญาชนเสรีนิยมก้าวหน้าและฝ่ายซ้ายรุ่นก่อนจอมพลสฤษดิ์ เรืองอำนาจจึงได้รับการรื้อฟื้นกลับมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทว่าในอีกด้านหนึ่งฆาตกรรมทางการเมืองได้เริ่มมาตั้งแต่ กลางปี 2517 โดยผู้แทนชาวไร่ชาวนาและกรรมกร ถูกลอบทำร้ายทีละคน สองคนต่อมาก็ถึงนักศึกษา และนักการเมือง ทว่าแต่ละครั้งตำรวจไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้
หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะปฏิรูปฯได้มีคำสั่งยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ห้ามประชาชนออกนอกจากบ้านระหว่างเวลา 24.00 น. – 05.00 น. และสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ 2 วันต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนวพลเข้าเฝ้าฯเพื่อประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สภาวการณ์ทางการเมืองโดยรวมนั้น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับนักศึกษาประชาชนจำนวน 3,094 คน ไปฝากขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน มีรายงานของการตรวจค้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อ้างว่า “ตรวจค้นอย่างละเอียด” โดยคืนวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้แถลงผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 การเข้าตรวจค้นธรรมศาสตร์ได้ค้นพบอุโมงค์ลับสองแห่งคือ อุโมงค์ใต้ดินที่คณะบัญชี ซึ่งมีทางออกได้สามทางคือ ไปออกที่บริเวณท่าพระจันทร์ ไปออกบริเวณท่าน้ำหลังมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ที่ตึกคณะบัญชียังพบห้องปรับอากาศมีห้องน้ำในตัวอยู่บนเพดาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าคงเป็นห้องประชุมของแกนนำนักศึกษาที่ก่อความ วุ่นวาย เจ้า หน้าที่ตำรวจพบอาวุธสงครามร้ายแรงจำนวนมาก เช่น พบกระสุนปืน เอ็ม 79 จำนวน 1 นัด , ระเบิดเอ็ม.เค.2 จำนวน 2 ลูก , เอ็ม. 26 จำนวน 2 ลูก , พลุยิงสัญญาณ 3 ชุด , พลุสะดุด 1 ชุด , เครื่องจุดระเบิดแมกนีโต 1 ชุด , อาวุธพกรีวอลเวอร์ 2 กระบอก , ปืนลูกซอง 1 กระบอก ซึ่งไปในทางเดียวคำแถลงการณ์ของ พล.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ยืนยันการพบอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ แต่ พล.ต.ต.เสน่ห์กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ว่าอุโมงค์นั้นอยู่ที่จุดไหนของธรรมศาสตร์ ในวันที่ 9 ตุลา พล.ต.ท.ชุม แถลงผลการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว ทางตำรวจยืนยัน ในเวลาต่อมาว่า มีชาวญวนแปลกปลอมอยู่แปดคน เป็นชายห้าคน หญิงสามคน แม้จำนวนผู้ถูกจับกุมจะมากถึง 3,094 แต่ได้รับการปล่อยตัวเหลือผู้ต้องหา 18 คนเท่านั้นที่ถูกส่งฟ้องศาลทหารเนื่องจากถูกแจ้งข้อหาฉกรรจ์เพิ่มว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในเวลาต่อมา นายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ก็ตกเป็นผู้ต้องหาคนที่ 19 และเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกแจ้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้นายบุญชาติได้ขึ้นศาลพลเรือน
คดีดังกล่าวรู้จักในชื่อ คดี 6 ตุลา เริ่มต้นพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2520 และสิ้นสุดคดีเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2521
การกวาดล้างครั้งใหญ่ไม่เพียงเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ทว่าได้ลุกลามขยายตัวออกไปทั่วประเทศ หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมถูกเก็บจากแผง ผู้ที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลถูกข้อหาเป็นภัยสังคม สภาพสังคมในช่วงดังกล่าวได้ผลักดันให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิด ขัดแย้งกับรัฐบาลต้องหนีเข้าป่า เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษาปัญญาชนที่แค้นเคือง และมองไม่เห็นทางต่อสู้ด้วยวิธีอื่น พากันเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ประกาศต่อสู้กับรัฐบาลด้วยอาวุธเป็นจำนวนหลายพันคนทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นหลายคนยังไม่ได้รู้จักหรือไม่ได้ ศรัทธาพรรคคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด แต่ด้วยข้อจำกัดของประวัติศาสตร์ของทางการที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเติบโต ผูกพันและต้องพึ่งพาพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตลอด ทำให้คนระดับผู้นำพรรค คอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งเป็นปัญญาชนรุ่นเก่า มีลักษณะยึดติดกับความเป็นปัญญาชนชั้นสูงในระบบข้าราชการอีกแบบหนึ่ง ทั้งยังมีลักษณะติดลัทธิคัมภีร์ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งกับนักศึกษาปัญญาชน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ ความรับรู้แตกต่างจากปัญญาชนรุ่นเก่าที่เป็นผู้นำอย่าง รุนแรง
พ.ศ. 2517 - 2523 เป็นห้วงเวลาที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในแถบอินโดจีนประสบผลสำเร็จในการปฏิวัติ ยึดอำนาจในประเทศต่างๆ จากสถานการณ์ในขณะนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งมีทั้ง พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนอาสาสมัครตลอดจนมวลชนจัดตั้งทุกรูปแบบของรัฐไทยได้รวมตัวกันต่อสู้กับ พคท. ซึ่งก่อให้เกิดสงครามที่รุนแรงมีผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก
ทว่าเมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศเปลี่ยน เกิดความขัดแย้งขั้นแตกหัก ระหว่างจีน เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งเคยร่วมมือกันสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้าน และจีนเปลี่ยนท่าทีอยากคบกับรัฐบาลประเทศทุนนิยมรวมทั้งรัฐบาลไทย และรัฐบาลไทย ตั้งแต่สมัยนายกฯ เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ก็เปลี่ยนท่าทีใช้นโยบายยืดหยุ่น ชักชวนนักศึกษาปัญญาชนออกจากป่าในเขตของคอมมิวนิสต์ โดยไม่ถือเป็นความผิด เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ในที่สุดก็นำไปสู่ความแตกแยก การกลับออกจากป่า หรือ ป่าแตก ผ่านการประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2523 เพื่อเป็นแนวทางในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ สาระสำคัญของคำสั่งนี้ คือ การใช้หลัก “การเมืองนำการทหาร” ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
คำสั่งที่ 66/2523 ได้ระบุถึงสาเหตุของการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ว่าเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ความไม่เท่าเทียมทางการเมือง คือ สภาพการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตย แต่อำนาจนี้อยู่ในมือของคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งข้าราชการซึ่งใช้อำนาจหน้าที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนที่ไม่มีทางต่อสู้ ส่วนความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวข้องกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยคนจำนวนน้อย การขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนจนโดยคนที่ร่ำรวย ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ การมีโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อันส่งผลให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นและระหว่างเมืองกับชนบทกว้างมากขึ้นทุกที
จุดเริ่มต้นของแนวคิด คำสั่ง 66/23 มีที่มาแนวคิดของ พล.ต. เปรม ติณสูลานนท์ (ยศ ขณะนั้น) เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาพที่ 2 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2517 ที่พบว่าชาวบ้านไม่ไว้ใจตำรวจ ชาวบ้านไม่ไว้ใจทหาร และให้ความไว้วางใจพวกคอมมิวนิสต์ในป่ามากกว่า พลโทเปรมจึงร่วมมือกับ พล.ต.ปฐม เสริมสิน, พ.อ.หาญ ลีนานนท์, พ.อ.เลิศ กนิษฐะนาคะ เป็นต้น เริ่มตระหนักว่าวิธีการปราบปรามอย่างเดียวไม่น่าจะได้ผล จำเป็นต้องใช้วิธีการดึงเอาประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับทางราชการ
นอกจากนี้ พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เริ่มจัดตั้งชาวบ้านขึ้นเป็นอาสาสมัครป้องกันตนเอง โดยในขั้นแรกเอาชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับพวกคอมมิวนิสต์มาเป็นพวก และจัดตั้งอาสาสมัครชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ อาทิ พ.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเสนอรูปแบบของ "ทหารพราน" ขึ้นมา ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งจากการจัดตั้งอาสาสมัครอันเป็นรูปจัดตั้งของกระทรวงมหาดไทย เป้าหมายอย่างแท้จริงของทหารพรานคือการย้อนรอย "คอมมิวนิสต์" นั่นก็คือ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นทหารที่ระดมมาจากชาวไร่ชาวนาในชนบท รัฐบาลก็จัดตั้ง "ทหารพราน" ขึ้นมาจากชาวไร่ชาวนาในชนบทเช่นเดียวกัน พล. อ. ชวลิต กล่าวว่า
“ตอนนี้เองที่กองทัพ เริ่มศึกษาพิจารณากันอย่างหนักถึงเหตุผล พยายามแสวงหาหนทางที่จะกลับเป็นฝ่ายที่เห็นชัยชนะได้บ้าง ลูกหลานจบการศึกษาจากโรงเรียนทหาร ตำรวจ ใช้เวลาเรียน 5-6 ปี ออกมารับราชการ ลงพื้นที่ปฏิบัติการในสนามเพียง 6 เดือน ก็ต้องสูญเสียแขน ขา อวัยวะ และแม้ชีวิต สภาพขณะนั้นผู้ใดไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้ชิดดังกล่าว จะไม่มีวันได้รับทราบความเจ็บปวดในหัวใจที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันและคืน ของเหล่าทหารหาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน...ผมเริ่มได้คิด ว่า “ด้วยความถือตัวว่าเป็นผู้รู้และชำนาญ ในกระบวนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นความคิดและหลักการที่ผิด เพราะได้รับมาจากการปฏิบัติการกับกองทัพสหรัฐฯ ในต่างแดน ผมเกือบนำกองทัพและประเทศชาติไปสู่ความหายนะเสียแล้ว จึงเริ่มกลับมาพิจารณาหลักการพื้นฐาน ในการต่อสู้หรือการทำการรบ ซึ่งจะต้องเริ่มด้วยการพิจารณาเพื่อให้เข้าใจฝ่ายตรงข้ามให้ถ่องแท้ เป็นขึ้นตอนแรก และจะต้องศึกษาพิจารณาโดยตรงจากบุคคล/หลักฐานเอกสารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ศึกษาจากฝ่ายเราหรือฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งเรายึดถือมาตลอด”
ทหารพรานที่ พ.อ.ชวลิตเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อประสานกับ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ของพล.อ.สายหยุด เกิดผล ประสานกับอาสาป้องกันตนเอง อาสาป้องกันหมู่บ้าน ที่ริเริ่มโดย พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.ท.สัณห์ จิตรปฏิมา ก็ค่อยๆ ก่อรูปแนวคิดบนพื้นฐานแห่งหลักการ "การเมืองนำการทหาร" ขึ้นมา
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 เปรม ติณสูลานนท์เลื่อนครองยศจากพลโทเป็น พลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และภายหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม พ.ศ. 2520 ก็ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ละพลเอก เปรมก็เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
วันที่ 23 เมษายน 2523 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 จึงประกาศออกมา นักศึกษา และปัญญาชนจำนวนมากทยอยออจากป่า ในปีพ.ศ. 2524 เกิดวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ ผู้ปฏิบัติงาน พคท. ทะยอยออกจากป่า หลังจากรัฐบาลในภายหลังมีคำสั่ง 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง ซ้ำอีกครั้ง ปฏิบัติการของ พคท. อ่อนกำลังลงทุกที กระทั่ง ปี 2534 ผู้ปฏิบัติงานชุดสุดท้ายของ พคท. ในเขตงานภาคใต้ ออกจากป่าและยุติบทบาทลงนับแต่นั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "ช่อ พรรณิการ์" "มงคลกิตติ์" โชว์ของ หาเสียงแทนผู้ชิงเก้าอี้รองประธาน โกลาหลบังเกิด!!
- ขอคารวะและสดุดีประธานองคมนตรีสองแผ่นดิน แต่การเมืองไทยเปิดสภามายังน่าขยะแขยงเหมือนเดิม