- 29 พ.ค. 2562
เนื่องในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๗ และได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่จัดขึ้นในประเทศอังกฤษ เป็นพิธีเงียบๆตามพระราชประสงค์ของพระองค์
เนื่องในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๗ และได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ที่จัดขึ้นในประเทศอังกฤษ เป็นพิธีเงียบๆตามพระราชประสงค์ของพระองค์
หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. ๒๔๘๐ พระองค์ทรงพระประชวรมากด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ พระอาการประชวรของพระองค์กำเริบหนักขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ก็เริ่มทุเลาขึ้นเรื่อยมา กระทั่งวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พระองค์เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ขณะที่มีพระชนมายุ ๔๘ พรรษา
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการจัดงานพระบรมศพในประเทศอังกฤษเป็นพิธีภายในเงียบๆ ไม่มีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีพระสงฆ์ แต่ทางราชการอังกฤษได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายในโดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน (ที่ประทับ) ได้ถึง ๔ คืน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง ๑ คืนเท่านั้น เพื่อให้ประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย
การจัดการพระบรมศพนั้นเป็นไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทางศาสนาพุทธเพราะไม่มีพระภิกษุ รวมทั้งไม่มีการพระราชพิธีอื่น ๆ ตามราชประเพณีด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า
ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา
หลังจากทราบข่าวการเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหารตามราชประเพณี โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
เมื่อได้ประดิษฐานพระบรมศพไว้ครบ ๔ คืนเพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลได้เสด็จมาเฝ้ากราบถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยังสุสานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ ๕ คัน
กระบวนแห่พระบรมศพ
คันแรกเป็นรถพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รถคันที่สองเป็นรถที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระราชนัดดา คันต่อไปเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมกับพระชายา คันต่อไปเป็นรถของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และบุคคลอื่น ๆ
ขบวนแห่พระบรมศพแม้จะดูน้อย แต่เมื่อเสด็จไปถึงสุสานโกลเดอร์สกรีน ได้มีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จอยู่มากทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ฐานที่ตั้ง และผู้ที่ตามเสด็จเข้าประทับและนั่งเก้าอี้แถวโดยลำดับแล้ว นายอาร์. ดี. เครก (R. D. Craig) ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทยและเป็นพระสหายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นถวายความเคารพทีละคน มีคนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนาได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกความทรงจำไว้ตอนหนึ่งว่า เหมือนจะทรงทราบดีว่าพระชนม์จะไม่ยืนยาวต่อไป จึงได้ทรงสั่งไว้ว่า ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่งทุกประการ
หลังจากนั้น พระบรมอัฐิได้เก็บรักษาไว้ ณ ประเทศอังกฤษ ไม่ได้อัญเชิญกลับประเทศไทยเพราะมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ถ้ารัฐบาลขณะนั้น (เข้าใจว่าจะหมายถึงสมัย พ.ศ. ๒๔๗๗) ยังมีอำนาจอยู่ตราบใด ก็ไม่ให้นำพระบรมอัฐิกลับมาเมืองไทยเป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ ๑๕ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงดำเนินการที่จะให้รัฐบาลอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาประเทศไทย ดังปรากฏในหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ตอนหนึ่งว่า
ด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชในพระบรมราชวงศ์จักรีได้มีประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้วแทบทุกรัชกาล คงขาดแต่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตในต่างประเทศ ทุกวันนี้ในงานพระราชพิธีต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิออก บัดนี้ น่าจะถึงเวลาและเป็นการสมควรแล้วที่จะดำริจัดการให้อัญเชิญพระบรมอัฐิเข้ามาประดิษฐานเสียตามพระราชประเพณีที่มีมา อันพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๗ นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงรักษาไว้และพระองค์ท่านเองก็ได้เสด็จประทับรอนแรมอยู่ในต่างประเทศมาแล้วเป็นเวลาช้านาน ถ้าจะจัดการอัญเชิญเสด็จกลับเข้ามาประทับเสียในประเทศนี้ และทูลขอให้อัญเชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๗ เข้ามาด้วย ก็จะดีหาน้อยไม่
ในที่สุด รัฐบาลได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ มีความว่า
คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ตลอดแล้วเห็นว่า เหตุผลเกี่ยวด้วยพระราชประเพณีตามข้อปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการสำคัญประการหนึ่ง และนอกจากนี้ รัฐบาลและประชาราษฎรยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา พระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ประกอบไว้ ได้อำนวยคุณประโยชน์แก่ประชาราษฎรและประเทศไทยเป็นอเนกประการ อาทิ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราว และพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นรากฐานของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ฉะนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการถวายพระเกียรติ โดยขออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เสมอด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์จักรี ให้ต้องตามพระราชประเพณีตามความปรารถนาของรัฐบาลและคณะประชาราษฎร อนึ่ง เฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับคำปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยรัฐบาลจักได้ถวายพระเกียรติตามพระราชประเพณีสืบไป
ดังนั้น ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันแห่งเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสู่ท่าเรือเซาท์แทมป์ตัน วันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และต่อมาในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ศกเดียวกัน ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปบรรจุ ณ พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธ ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์