- 02 มิ.ย. 2562
นทท.ตื่นตาตื่นใจ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำร่วม 30 ตัวโผล่ในทะเลอ่าวไทยใกล้เกาะเต่า
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบนไดร์วิ่งเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน ว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนำเรือพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปท่องเที่ยวทะเลหน้าเกาะเต่า ช่วงหน้าหาดทรายรีไปทางเกาะนางยวน ปรากฎได้พบฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ(false killer whales)ประมาณ 30 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำหายากอาศัยอยู่บริเวณน้ำทะเลลึก ได้โผล่มากระโดดเล่นน้ำด้านข้างเรือเป็นที่ตื่นเต้นและโชคดีของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากที่ได้พบฝูงวาฬหายาก
โดยได้ถ่ายคลิปและสอบถามฝูงวาฬมาได้อย่างไรเป็นที่อัศจรรย์ใจอย่างมาก ซึ่งฝูงวาฬเพชฌฆาตดำได้ว่ายน้ำออกไปทางทะเลลึก แต่อาจยังอยู่บริเวณแถบเกาะเต่า นอกจากนี้ ก่อนนี้ 1 วัน นักท่องเที่ยวดำน้ำได้พบกับฉลามวาฬตัวใหญ่บริเวณจุดดำน้ำหินเขียว , หินขาว และหินใบ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำมาประจำเกาะเต่าในช่วงนี้และไม่ทำอันตรายกับนักท่องเที่ยว
นายวิชวุทย์ กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำทราบว่า ได้พบฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ ว่ายเข้ามาบริเวณเกาะเต่าล่าสุดก่อนนี้เมื่อวันที่ 13 เมษายน2562 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาแล้วหายไป ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติบริเวณเกาะเต่าที่มีมาก ส่งผลให้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากได้บ่อยครั้ง และเกาะเต่า ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยและดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีแหล่งสอนดำน้ำและผลิตนักดำน้ำแต่ปีจำนวนมาก
ข่าวแจ้งว่า วาฬเพชฌฆาตดำ แม้มีชื่อว่าวาฬ แต่เป็นสมาชิกในกลุ่มโลมา(Ocenic Dolphin) นับเป็นโลมาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกไม่มีนิสัยดุร้าย จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งว่า วาฬเพชฌฆาตดำ ถือเป็นสัตว์ทะเลหายากและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สัตว์สงวนและคุ้มครองสัวต์ป่า พ.ศ.2535 มีขนาดโตเต็มวัย หนักประมาณ 2 ตัน เพศผู้ยาว 6 เมตร เพศเมียยาว 5 เมตร ลูกแรกเกิดยาว 1.5 - 2 เมตร มีครีบหลังอยู่กึ่งกลางตัว ไม่มีจะงอยปาก ส่วนหัวไม่โหนกมาก หน้าผากกลมมน ลำตัวสีดำ ส่วนคางและท้องสีเทาจาง ฟันกลม ซี่ใหญ่ 7-12 คู่ เจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8-14 ปี ตั้งท้องนาน 12-14 เดือน และทิ้งระยะห่างทุกๆ 3-4 ปี โดยปกติวาฬเพชฌฆาตดำจะอาศัยอยู่น้ำทะเลลึก แต่ระยะหลังเริ่มกลับมาหากินบ่อยขึ้นในประเทศไทย ทั้งทางทะเลอันดามัน บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่กาะสิมิลัน และเกาะเต่า ฝั่งอ่าวไทย โดยภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดคือ เรือประมงและมลภาวะจากขยะพลาสติก
ข่าวเจนจิรา ศรีวิรักษ์ ผสข.ทีสุราษฎร์ธานี