ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว

ราคาน้ำมันดิบผันผวนในระดับสูง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว

          ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 51 – 56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2562

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 - 7 มิ.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มแกว่งตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบโลกอยู่ในสภาวะตึงตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ประกอบกับอิหร่านคาดจะส่งออกน้ำมันดิบได้น้อยลง นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่อาจปรับตัวลดลงจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีโอกาสที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในปลายเดือน มิ.ย. 62 นี้ออกไป โดยกลุ่มผู้ผลิตจะหารือเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันดิบที่จะผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 มิ.ย. 62 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากรัสเซียมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ หลังประเทศในทวีปยุโรปพบสารปนเปื้อนในน้ำมันดิบที่ขนส่งผ่านท่อ Druzhba ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้รัสเซียจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำมันดิบที่สามารถส่งออกได้    

ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ หยุดผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 2 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะไม่ให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ เพื่อที่จะลดรายได้หลักของประเทศ ล่าสุด ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากอิหร่านในเดือน พ.ค. 62 ปรับลดลงสู่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณน้ำมันดิบส่งออกเดิมราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 61

จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง หลังนายทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งทหาร 1500 นายไปประจำการในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้อิหร่านออกมาขู่ที่จะตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธทำลายเรือของสหรัฐฯ บริเวณน่านน้ำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบนี้อาจส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางปรับตัวลดลง

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคาดยืดเยื้อ หลังสื่อของรัฐบาลจีนประกาศว่า จีนพร้อมที่จะใช้แร่หายาก 17 ชนิด เป็นเครื่องมือในการต่อรองการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยแร่ดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำหรับผลิตอุปการณ์ทางเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน จนถึงอาวุธของกองทัพ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังไม่ออกมายืนยันถึงการจำกัดการขายแร่เหล่านี้ให้กับสหรัฐฯ ซึ่งการที่จีนประกาศงดการขายแร่หายากให้กับสหรัฐฯ จะส่งผลให้สหรัฐฯ ตกที่นั่งลำบาก เนื่องจาก ปริมาณการผลิตแร่หายากจากจีนคิดเป็นร้อยละ 81 ของปริมาณการผลิตแร่หายากทั้งหมดทั่วโลก นอกจากนี้ ปริมาณแร่หายากที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนคิดเป็นร้อยละ 80 ของปริมาณแร่นำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ    

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน จีดีพีไตรมาส 1/62 ยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 - 31 พ.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดอีกครั้งที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใกล้แหล่งส่งออกน้ำมันดิบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ส่งผลให้ท่อขนส่งน้ำมันดิบซึ่งขนส่งน้ำมันดิบราว 360,000 บาร์เรลต่อวัน ได้รับความเสียหาย โดยท่อดังกล่าวสามารถกลับมาดำเนินการได้ในวันถัดมา