- 11 มิ.ย. 2562
อดีตผู้พิพากษากางข้อกฏหมายละเอียดยิบ!กรณี ช่อ พรรณิการ์ จากปปช.ไปถึงศาลฏีกาหากรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.
จากกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาเปิดเผยกรณีโพสต์และภาพ ของน.ส.พรรณิการ์ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในตอนนี้ น่าจะเข้าข่ายความผิด มาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งก็คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย (1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคลื่อนไหวเรื่อง ช่อ พรรณิการ์ โพสต์รูปชุดครุย
(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสานึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการโพสต์ เกิดขึ้นก่อน น.ส.พรรรณิการ์ จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.อำนาจการสอบสวนจึงเป็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดังนั้นในบ่ายวันที่ 11 มิ.ย. จะไปยื่นให้ป.ป.ช.สอบสวนกรณีดังกล่าวทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ต้องหยุดทำหน้าที่ และเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 10 ปี
ขณะที่นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จะเดินทางไปยื่นหนังสือให้ปปช.ตรวจสอบโฆษกพรรคอนาคตใหม่ด้วย ซึ่งอดีตผู้พิพากษาได้เปิดเผยถึงข้อกฎหมาย การไต่สวนของปปช.รวมทั้งขั้นตอนจากนั้นว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่อ น.ส.พรรณิการ์ โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้
.....ข่าวนายศรีสุวรรณ จรรยา จะไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ปปช.ให้ทำการไต่สวนนางสาวพรรณิการ์ วานิช ส.ส.และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น
.....มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งใช้บังคับแก่ ส.ส. ด้วย
.....ข้อ ๕ ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
.....ข้อ ๖ ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
.....พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา ๘๗ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ฯลฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
.....การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไป ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกําหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดําเนินการโดยรวดเร็ว
.....ให้นําความในมาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
.....บทบัญญัติตามมาตรา ๘๗ และ ๘๑ สรุปได้ว่า เมื่อคณะกรรม ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วเห็นว่า นางสาวพรรณิการ์กระทำฝ่าฝืนมาตรฐานจริธรรมก็ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
.....เมื่อศาลฎีกาประทับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าศาลฎีกามีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
.....ทั้งผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไปและไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใด ๆ
.....อนึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้ามีความผิดก็ต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Chuchart Srisaeng