- 20 ก.ค. 2562
กลายเป็นประเด็นระดับชาติไปแล้ว จากกรณีบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 30 ปีเพื่อแลกกับมูลค่าความเสียหายจากการที่อาจต้องชดใช้เงินให้กับ กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเงินกว่า 1.3 แสนล้านจากประเด็นข้อพิพาทที่ผ่านๆมา
กลายเป็นประเด็นระดับชาติไปแล้ว จากกรณีบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบให้ขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 30 ปีเพื่อแลกกับมูลค่าความเสียหายจากการที่อาจต้องชดใช้เงินให้กับ กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเงินกว่า 1.3 แสนล้านจากประเด็นข้อพิพาทที่ผ่านๆมา
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาระหว่างกทพ.กับBEM ยั งไม่มีความสมเหตุสมผล ที่จะต้องเร่งตัดสินใจขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไปอีกถึง 30 ปี จนทำให้ถูกมองว่ามีความพยายามจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนหรือไม่ อย่างไร
“วันพุธที่ 19 ธันวาคม 2561 มีการพิจารณาต่อสัญญาทางด่วนให้บีอีเอ็มเพื่อแลกกับหนี้ที่การทางพิเศษฯ จะต้องชำระให้บีอีเอ็มรวมเป็นเงิน 137,515.6 ล้านบาท จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมด 17 ข้อพิพาท
จากข้อพิพาททั้งหมดดังกล่าวข้างต้น มีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี และให้จ่ายเงินชดเชยให้บีอีเอ็มเป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท ข้อพิพาทที่เหลือจำนวน 16 ข้อพิพาท เป็นข้อพิพาทที่อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 3 ข้อพิพาท ขั้นอนุญาโตตุลาการจำนวน 9 ข้อพิพาท และข้อพิพาทที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4 ข้อพิพาท
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กรรมการของการทางพิเศษฯ หรือบอร์ดบางคนมีความกังวลว่าทำไมการทางพิเศษฯ จึงต้องนำหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดยังไม่ตัดสินมาพิจารณาต่อสัญญาให้บีอีเอ็มแทนการชำระเงินด้วย ทำไมจึงไม่พิจารณาเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วจำนวน 4,318.4 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องต่อสัญญาทางด่วนให้บีอีเอ็มเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : หมอระวีดักคอ!ครม.ยืดสัมปทานBEM ลุยยื่นยับยั้งพ่วงญัตติค่าโง่
ล่าสุด ดร.สามารถได้โพสต์แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุถึงทางออกที่ควรจะเป็น สำหรับเรื่องค่าโง่ทางด่วน 1.37 แสนล้าน มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้
“หนี้หรือที่เรียกกันติดปากว่าค่าโง่ทางด่วนจำนวน 137,515.6 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) ที่คาดว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะต้องจ่ายให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหารทางด่วนขั้นที่ 2 จากกรณีข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษฯ กับบีอีเอ็มจำนวน 17 ข้อพิพาท
ซึ่งมีเพียงข้อพิพาทเดียวเท่านั้นที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้คดี และให้จ่ายเงินชดเชยให้ BEM เป็นจำนวน 4,318.4 ล้านบาท สืบเนื่องจากกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาเป็นคู่แข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอินที่ BEM ได้รับสัมปทาน ส่วนข้อพิพาทที่เหลืออีก 16 ข้อพิพาทนั้น คดียังไม่ถึงที่สุด
จากจำนวนหนี้ทั้งหมด 137,515.6 ล้านบาท ที่เกิดจากข้อพิพาท 17 ข้อพิพาท ส่วนใหญ่เกิดจากข้อพิพาท 2 เรื่องหลัก ประกอบด้วย (1) ข้อพิพาทจากการแข่งขันเนื่องจากการขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์จำนวน 2 ข้อพิพาท คิดเป็นเงิน 78,907.8 ล้านบาท และ (2) ข้อพิพาทจากการไม่ขึ้นค่าทางด่วนจำนวน 11 ข้อพิพาท คิดเป็นเงิน 56,033.6 ล้านบาท ที่เหลือเป็นข้อพิพาทอื่นๆ จำนวน 4 ข้อพิพาท คิดเป็นเงิน 2,574.2 ล้านบาท
ที่น่าสนใจก็คือข้อพิพาทที่เกิดจากการแข่งขันจำนวน 2 ข้อพิพาท ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุด โดยศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้มาแล้ว 1 ข้อพิพาท และให้จ่ายเงินชดเชยให้ BEM 4,318.4 ล้านบาท จากการขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ทำให้มีการแข่งขันกับทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน ซึ่งข้อพิพาทนี้ BEM ได้เรียกร้องค่าเสียหายเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2542-2543 เท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ ดังนั้นจึงทำให้มีข้อพิพาทที่เกิดจากการแข่งขันอีก 1 ข้อพิพาท ที่ยังไม่เข้าสู่ขบวนการอนุญาโตตุลาการ คิดเป็นเงิน 74,589.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายในช่วงปี พ.ศ.2544-2561 หากข้อพิพาทนี้ ถึงขั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดก็คาดกันว่าการทางพิเศษฯ จะแพ้คดี และจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ BEM
จำนวน 74,589.4 ล้านบาท
เนื่องจากเป็นข้อพิพาทจากการแข่งขันเช่นเดียวกันกับข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยตัดสินให้การทางพิเศษฯ แพ้มาแล้ว ด้วยเหตุนี้ จะทำให้การทางพิเศษฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยเฉพาะข้อพิพาทจากการแข่งเป็นเงินรวมทั้งหมด 78,907.8 ล้านบาท (4318.4+74,589.4)
ส่วนข้อพิพาทจากการไม่ขึ้นค่าทางด่วนจำนวน 11 ข้อพิพาทนั้น ศาลปกครองสูงสุดยังไม่เคยตัดสิน จึงไม่อาจบอกได้ว่าการทางพิเศษฯ จะแพ้หรือชนะ
หนี้ทั้งหมด 137,515.6 ล้านบาทนั้น การทางพิเศษฯ สามารถต่อรองลงมาเหลือประมาณ 59,000 ล้านบาท นับเป็นการต่อรองที่ได้ผลดีมาก แต่การทางพิเศษฯ ควรออกมาชี้แจงให้ได้ว่าทำไม BEM จึงยอมลดหนี้ให้มากมายขนาดนั้น
นอกจากหนี้จำนวนที่ลดลงมาเหลือ 59,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีหนี้ที่การทางพิเศษฯ ต้องการให้BEM ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) เหนือทางด่วนในปัจจุบันจากประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร รวมทั้งแก้คอขวดบนทางด่วนอีก 4 จุด รวมเป็นเงิน 31,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหารถติดบนทางด่วน ทำให้การทางพิเศษฯ มีหนี้รวมทั้งหมด 90,000 ล้านบาท (59,000+31,000)
หนี้จำนวน 90,000 ล้านบาท หากการทางพิเศษฯ ต้องการจ่ายเป็นเวลาแทนเงิน จะต้องขยายเวลาสัมปทานให้ BEM ออกไป 30 ปี โดยที่ระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วย (1) เวลาประมาณ 15 ปี เพื่อใช้ทดแทนหนี้ 59,000 ล้านบาท และ (2) เวลาประมาณ 15 ปี เพื่อใช้ทดแทนค่าก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) รวมทั้งแก้ปัญหาคอขวดบนทางด่วน
จากข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ผมขอเสนอแนะให้การทางพิเศษฯ พิจารณาเลือกแนวทางการแก้ปัญหาค่าโง่ทางด่วนดังนี้
1. หากเห็นว่ามีโอกาสชนะคดีสูงจากข้อพิพาทที่เหลืออยู่ก็ควรสู้คดีต่อ แต่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ BEM ในข้อพิพาทที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วเป็นเงิน 4,318.4 ล้านบาท หรือขยายเวลาสัมปทานทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอินให้แทนเป็นเวลาประมาณ 4-5 ปี
2. หากเห็นว่ามีโอกาสแพ้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทจากการแข่งขันที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยตัดสินแล้ว ก็ควรยุติข้อพิพาทที่เหลือทั้งหมด แล้วพิจารณาขยายเวลาให้ BEM แต่ควรขยายเวลาให้ไม่เกิน 15 ปี เพื่อชดเชยหนี้จำนวน 59,000 ล้านบาทเท่านั้น
ไม่ควรนำการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) มาพิจารณารวมกับข้อพิพาท อนึ่งการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) นั้น หากการทางพิเศษฯ มั่นใจว่าเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วจะสามารถแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริงก็ควรแยกเป็นโครงการเฉพาะ
ทั้งหมดนี้ หวังว่าการทางพิเศษฯ จะนำไปพิจารณาเลือกแนวทางที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม