- 26 ส.ค. 2562
ต้องลุ้นกันอีกสักพักใหญ่ๆ ว่า บทลงเอยเรื่องการทำหน้าที่ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม , นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล หลังจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน เดินหน้าเอาผิดในกรณีไปร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงขั้นยื่นหนังสือให้พรรคเพื่อไทย ดำเนินการตั้งคณะกรรมการ สอบวินัยและจริยธรรม จะจบอย่างไร
ต้องลุ้นกันอีกสักพักใหญ่ๆ ว่า บทลงเอยเรื่องการทำหน้าที่ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทยของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม , นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล หลังจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน เดินหน้าเอาผิดในกรณีไปร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงขั้นยื่นหนังสือให้พรรคเพื่อไทย ดำเนินการตั้งคณะกรรมการ สอบวินัยและจริยธรรม จะจบอย่างไร
กรณีนี้ล่าสุด นายครูมานิตย์ ยังคงยืนยันว่าไม่มีความคิดเรื่องการย้ายพรรค และก็ไม่ได้หนักใจที่ถูกนายยุทธพงศ์ ยื่นเรื่องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบความประพฤติ เพราะที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ว่า ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้่นเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกผู้แทนราษฎรเท่านั้น และทางผู้บริหารพรรคก็ได้ซักถาม พร้อมตักเตือน และกำชับให้ระมัดระวังเรื่องแบบนี้มากขึ้นเท่านั้น
สอดรับกับมุมมองของ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ผู้อยู่เบื้องหลังการชักชวน "เสี่ยลาว" หรือ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีต รมช. เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ของพรรคเพื่อไทย ให้ย้ายขั้วย้ายฝั่งมาร่วมกิจกรรมกับพรรคพลังประชารัฐ
โดยกล่าวถึงการที่ทั้ง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม และ นายตี๋ใหญ่ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ไปร่วมให้การต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ในการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่า ส่วนตัวในฐานะส.ส.คนหนึ่ง ต้องขอชื่นชมบุคคลทั้งสอง ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นนักการเมืองของประชาชน ถือเป็นนักการเมืองน้ำดี ไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย
และโดยส่วนตัวได้พูดคุยกับนายตี๋ใหญ่ ทำให้ทราบว่า ไม่ใช่เป็นการแสดงตัวเพื่อขอย้ายข้างมาสนับสนุนรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ทั้งสองคนได้รับแจ้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า นายกรัฐมนตรีจะมาลงพื้นที่ และมีการนำงบประมาณมาพัฒนาจังหวัดด้วย จึงตัดสินใจไปให้การต้อนรับ
ในทางกลับกันหากวันนี้ตนเองเป็นฝ่ายค้าน และทราบว่านายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในฐานะ ส.ส.พื้นที่ก็จะต้องไปร่วมต้อนรับอย่างแน่นอน เพราะรู้ว่ารัฐบาลมาลงพื้นที่ มารับฟังปัญหาของประชาชน หากตัวเองที่เป็น ส.ส. ไม่มาให้การต้อนรับ ก็คงตอบชาวบ้านไม่ได้ว่าตกลงแล้วมาเล่นการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศ หรือเพื่อแบ่งสีแบ่งฝ่าย จ้องแต่จะทะเลาะกันเพียงอย่างเดียว
@ย้ำชัดๆก็คือพฤติการณ์ที่ส.ส.สุรินทร์ไปร่วมต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ คนต้นเรื่องมองว่าเป็นหน้าที่ผู้แทนราษฎร แต่การมองกลับด้านของนายยุทธพงศ์ ทำให้เกิดความคิดต้องย้อนกลับไปสืบค้นรากเหง้าของพรรคเพื่อไทย ในเรื่องการตั้งแง่การดูแลผลประโยชน์ประชาชนกับภาวะความคิดทางการเมือง
เพราะถ้าย้อนกลับไปถอดคำพูดของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ว่า " ของบประมาณเขาไป 500 บาท แต่เขาให้มา 1,500 บาท ก็ต้องไปต้อนรับ " ถือเป็นท่าทีของนักการเมืองอาวุโส ที่มองต่างอย่างเข้าใจวิถีการเมือง มากกว่าจะมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ในแง่มุมมองทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตาย
แปลความให้ชัด แม้แต่นายสมพงษ์เองก็ยอมรับว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ชาวบ้านคือผู้ได้รับผลประโยชน์ จากเม็ดเงินการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาของท้องถิ่น ซึ่งต้องย้ำด้วยเช่นกันว่า จังหวัดสุรินทร์ มีส.ส.พรรคเพื่อไทย ถึง 5 คน ส่วนอีก 2 คน เป็นส.ส.ภูมิใจไทย และ ส.ส.พลังประชารัฐ
ขณะที่ในเคสของนายครูมานิตย์เอง เป็นส.ส.สุรินทร์ มาหลายยุคสมัย เริ่มตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2554 ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ปี 2562 ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ รวมเบ็ดเสร็จยาวนานถึง 18 ปีที่อดีตข้าราชการครูตำแหน่ง อาจารย์ 2 ระดับ 6 โรงเรียนบ้านกะลัน หักเหชีวิตมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร
@นอกจากนี้ถ้าเทียบเคียงการลงพื้นที่ภาคอีสานของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ แล้วกลายมาเป็นปมขัดแย้งเรื่องการเอาใจรัฐบาลทหาร กับเหตุกรณีในอดีตยุค ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่เพื่อไทยเองก็ตาม น่าคิดเหมือนกันว่าประชาชนคนไทยมองกรณีไหนทุเรศทุรังกว่ากัน
จำกันได้หรือไม่ ยุครัฐบาลทักษิณ ประกาศก้องเรื่องการดูแลประชาชนในพื้นที่ผ่านการกระจายงบประมาณกันอย่างไรบ้าง จึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กับบทบาทผู้แทนราษฎร หรือนักการเมืองเลือกตั้งในช่วงนั้น
วันที่ 31 ตุลาคม 2548 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวปราศรัยกับชาวนครสวรรค์ ระหว่างการเป็นประธานมอบหนังสือแสดงสิทธิสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับประชาชน ตามโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ ที่หอประชุมโรงเรียนบรรพตพิทยาคม อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์
ความตอนหนึ่งว่า จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจด้วยการเลือกผู้สมัครส.ส.ของพรรคไทยรักไทย จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ส่วนจังหวัดที่ไว้วางใจน้อย ต้องเอาไว้ทีหลัง ต้องเป็นไปตามคิว
"ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา เปิดเผย สื่อมวลชนอยู่ต้องเปิดเผย ไม่มีความลับสำหรับผม วันนี้คิดกับประชาชนอย่างไร ก็อยากเห็นคนทั้งประเทศไม่ว่าอยู่ที่ไหน เลือกหรือไม่เลือกผม ก็อยากให้ทุกคนหายจน แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ต้องไล่ลำดับกันไป"
ประเด็นสำคัญที่สุด ก็คือคำพูดของ ทักษิณ ทั้่งหมดเกิดขึ้นจากอารมณ์ส่วนตัวล้วน ๆ โดยไม่สำนึกเรื่องของความเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเลยแม้แต่น้อย ตรงข้ามเป็นการพูดหลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้งซ่อมใน 3 จังหวัด ซึ่งพรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครลงแข่งขัน แต่ปรากฎว่าสามารถชนะการเลือกตั้งกลับเข้าสภามาได้เพียง 1 จังหวัด คือ สิงห์บุรี โดยการเอาชนะผู้สมัครจากพรรคชาติไทย แบบฉิวเฉียด 700 กว่าคะแนน จากเดิมเคยชนะถึงกว่า 2 หมื่นคะแนน
ส่วนในเคสกรณีจังหวัดพิจิตร ปรากฎว่าพรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครจากพรรคมหาชน กว่า 17,000 คะแนน และ ยังไปพ่ายแพ้พรรคชาติไทย ที่อุทัยธานี อีกเกือบ 1 หมื่นคะแนน ทั้งๆที่ ทักษิณ ประกาศก่อนหน้านั้นว่าเป็นบ้านเกิดของพ่อตาที่จะต้องเอาชนะให้ได้
@ไม่ต้องย้ำต้องแจกแจงอะไรเพิ่มเติม แต่ก็พอจะมองเห็นภาพเปรียบเทียบคำพูดของทักษิณ ชินวัตร ต้นแบบพรรคไทยรักไทย , พลังประชาชน และ เพื่อไทย กับสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พยายามทำกับประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม ซึ่งนักการเมืองอย่าง ส.ส.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อาจจำไม่ได้ เลยออกอาการเมื่อเห็นส.ส.สุรินทร์ไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์
ทีนี้มาดูอีกหนึ่งตัวอย่าง กับนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เป็นเหตุกรณีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2548 ทักษิณ ชินวัตร ไปตรวจราชการและเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แล้วแสดงแนวคิดเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้กับประชาชนในพื้นที่ว่า พร้อมจะดำเนินการเรื่องการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ ในรูปแบบโซนพื้นที่ ออกเป็น 3 กลุ่ม
คือ 1.สีแดง เป็นพื้นที่ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ 2.สีเหลือง เป็นพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือน้อย และ 3.สีเขียว เป็นพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
และถ้าหมู่บ้านใดอยู่ในกลุ่มสีแดง ก็จะไม่ได้รับงบประมาณใด ๆ ในการช่วยเหลือ พัฒนา แก้ปัญหา รวมทั้งงบเอสเอ็มแอลก็จะไม่ได้ ส่วนสีเหลือง จะมีการจัดสรรงบเข้าไปพัฒนาทีละจุด เพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้ได้ ขณะที่พื้นที่สีเขียวจะมีการพัฒนา มีงบประมาณเข้าไปอุดหนุนเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเห็นถึงความแตกต่างมากที่สุด
โดยในเวลานั้น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีแผนการใช้งบประมาณปี 2548 จัดสรรเป็นงบพัฒนาพิเศษ หรือ เอสเอ็มแอล ให้กับหมู่บ้านต่างๆ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน โดยหมู่บ้านขนาดเล็ก จะได้รับ 2 แสนบาท, ขนาดกลาง 2.5 แสนบาท และขนาดใหญ่ 3 แสนบาท ซึ่้งงบประมาณดังกล่าวก็มีเป้าหมายเพื่อนำไปใช้พัฒนาหรือแก้ปัญหาในแต่ละหมู่บ้าน
กระทั่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ตัวอย่างกรณีของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาคัดค้านแนวคิดของทักษิณ ชินวัตร ว่า แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นการตอกย้่ำความเหลื่อมล้ำ และเท่ากับว่ารัฐเป็นผู้แบ่งแยกดินแดนเสียเอง
@ ท้ายสุดอีกหนึ่งประสบการณ์จำไม่ลืม เรื่องการแบ่งแยกพื้่นที่ดูแลประชาชน โดยใช้เรื่องผลประโยชน์การเมืองมาเป็นตัวตัดสิน ก็คือเหตุกรณีที่ภูเก็ต ซึ่งลุกลามบานปลายถึงขนาดมีการลุกฮือขับไล่นายปลอดประสพ สุรัสวดี
เนื่องจากนายปลอดประสพ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง ระบุใจความตอนหนึ่งว่า "สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ บอกว่าจะไปสร้างที่ จ.ภูเก็ต แต่เราก็สร้างศูนย์ประชุมที่เชียงใหม่จนสำเร็จ มันก็ทวงให้เราไปสร้างที่ภูเก็ต ยังไม่สร้างให้จะมีปัญหาไหม วันหน้าจะสร้างแน่นอนเมื่อภูเก็ตเห็นความดีของพวกเรา และเลือกคนของเรา วันนั้นจะไปทำให้ วันนี้ไม่มีอารมณ์จะทำ"
และด้วยคำพูดในลักษณะดังกล่าว ที่มีลักษณะไม่ได้สนใจผลประโยชน์ประชาชนอย่างเท่าเทียม แต่มองเรื่องข้อแลกเปลี่ยนตอนแทนทางการเมือง ทำให้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ดื้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง
โดยทางด้าน นายบุญศุภภะ ตัณฑัยย์ ประธานชมรมรักษ์ภูเก็ต กล่าวถึงการปราศรัยของนายปลอดประสพในช่วงเวลานั้น ว่า เป็นการดูหมิ่นดูแคลน และสร้างความไม่พอใจให้แก่คนจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก รวมทั้งเป็นคนเลือกปฏิบัติ ใช้อารมณ์ในการทำงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจังหวัดภูเก็ต ในเมื่อคนที่เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี เป็นแบบนี้ บ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้อย่างไร
คนภูเก็ตจึงอยากเรียกร้องให้ นายปลอดประสพ ออกมาขอโทษคนภูเก็ต รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาความเหมาะสมของคนที่จะมารับตำแหน่งด้วย เพราะคำพูดที่พูดออกมาสร้างความเสียหายให้แก่จังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก !??