- 25 พ.ค. 2563
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คดีโอ๊ค พานทองแท้ ไปจนถึงวันที่ 25 มิ.ย.2563
สืบเนื่องจากการที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย น.พ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์คดี นายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีร่วมกันฟอกเงิน 10 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยฯ ที่ปล่อยกู้ให้เครือกฤษดามหานคร เสนอให้ นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด วินิจฉัยชี้ขาด
(คลิกอ่านข่าวประกอบ : ดีเอสไอ ยื่นเห็นแย้งมติอัยการไม่อุทธรณ์ คดีโอ๊ค ฟอกเงินกรุงไทยแล้ว )
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ไปจนถึง วันที่ 25 มิ.ย.2563 หลังจากอัยการเคยมีการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา มาแล้ว 4 ครั้ง และศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา จากนั้นดีเอสไอได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพิ่มเติม โดยระบุเหตุผลว่าเนื่องจากคดีนี้อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง ได้พิจารณาสั่งสำนวนแล้วทางอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้ง จึงส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นแย้งกลับไปยังอัยการสูงสุด เพื่อชี้ขาดตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา145 เพื่อมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยขณะนี้สำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด โจทก์จึงไม่สามารถดำเนินการในชั้นอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้คดีดังกล่าวมีรายละเอียดประกอบข้อเท็จจริง อันเป็นเหตุให้ดีเอสไอมีความเห็นแย้งกับคณะทำงานอัยการ ในการไม่ยื่นอุทธรณ์คดี ว่า " คดีดังกล่าวองค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน ในการอ่านคำพิพากษาจึงได้นำความเห็นของคณะ ที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิดเห็นควรให้ลงโทษจำคุกจำเลย หรือ นายพานทองแท้ เป็นเวลา 4 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5(1)(2) , 60 ซึ่งได้มีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ค วามเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน"
โดยการตัดสินดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เคยเข้ายื่นหนังสือถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอส่งความเห็นแย้งของผู้พิพากษา เจ้าของสํานวนคดี นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ตัดสินลงโทษจําคุก 4 ปี นายพานทองแท้ในคดีฟอกเงินดังกล่าว และขอทราบเหตุผลรายละเอียดการไม่อุทธรณ์คดี รวมทั้งขอให้มีการเปิดเผยรายชื่ออัยการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดี เนื่องด้วยเหตุผลประกอบดังนี้
1.การที่อัยการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ โดยอ้างคําพิพากษายกฟ้องนั้น ท่านได้อ่านความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสํานวนที่ตัดสินลงโทษจําคุกนายพานทองแท้ 4 ปีหรือไม่ ซึ่งคดีนี้มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่านเท่านั้นและความเห็นแย้งของผู้พิพากษาฉบับเต็มนั้นย่อมติดอยู่ท้ายคําพิพากษาในคดีนี้อยู่ที่สํานักงานอัยการสูงสุดผู้ว่าคดีแล้ว
2.การปฏิบัติราชการของอัยการ กรณีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นมีความเห็นแย้งแนบท้ายคําพิพากษา เมื่อคดีมันไม่ขาด ในอดีตอัยการมีธรรมเนียมการปฏิบัติราชการที่ผ่านมาอย่างไร
3.ขอให้เปิดเผยเหตุผลการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้โดยละเอียด และขออนุญาตถามตรงๆว่ามีใบสั่งหรือมีการแทรกแซงทางการเมืองหรือมีการวิ่งเต้นคดีนี้หรือไม่
4.คณะกรรมการอัยการศาลสูง 5 คนที่ตัดสินเห็นพ้องต้องกันไม่อุทธรณ์เป็นเอกฉันท์นั้น ได้มีการหารืออัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดเห็นชอบด้วยหรือไม่ หรือจะมีการทบทวนดุลยพินิจไม่อุทธรณ์นี้หรือไม่
5.ขอให้เปิดเผยรายชื่ออัยการสํานักคดีพิเศษผู้ทำคดีนายพานทองแท้และขอคําสั่งแต่งตั้งหรือรายชื่ออัยการคดีศาลสูง 5 คน โดยขอให้เปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณชนได้หรือไม่
6.ขอทราบรายชื่อคดีสําคัญๆที่สํานักงานคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่พ.ศ.2540 มีกี่คดี ชื่อคดีอะไรบ้าง