รวบกำนันหนีคดีฆ่า2คนไทยในญี่ปุ่นนาน20ปี

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

กองปราบ แถลงรวบกำนันหนีคดีฆ่า 2 คนไทยที่ประเทศญี่ปุ่นไปกบดานที่เชียงรายนาน 20 ปี คดีจะหมดอายุความเดือน มี.ค. 59      

 

วันนี้ (15 ม.ค.)  ที่กองปราบปราม   พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี รองผบช.ก. รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.สรายุทธ สงวนโภคัย พ.ต.อ.พันธนะ นุชนารถ พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.สันติ ไชยนิรามัย ผกก.4 บก.ป. และตำรวจ กก.4 บก.ป. ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม นายบุญฤทธิ์ หรือบุญทา จันทาพูน อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 101 หมู่1 ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตามหมายจับศาลอาญา เลขที่ 76/2559 ลงวันที่ 13 มกราคม 2559 ในข้อหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และ ซ่อนเร้น ย้ายศพ เพื่อปิดบังการตาย โดยตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหารายนี้ได้ที่ ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย จ.เชียงราย
         

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2539 นาย บุญฤทธิ์ ผู้ต้องหา พร้อมด้วย นายศักดิ์สมุทร ยังมั่ง ,นายมังกร สุทธดุก และนายชาตรี เครื่องสนุก ได้ร่วมกันก่อเหตุฆ่านายประยุทธ งานดี และนางราตรี ด้วนเครือ สองแรงงานชาวไทย โดยเริ่มจากลงมือฆาตกรรม นายประยุทธ์ ด้วยการจับศีรษะกระแทกกับขอบท่อระบายน้ำจนเสียชีวิต เหตุเกิดใกล้กับบ้านเลขที่ 968 – 2 อุชิโกเมะ ต.มิโฮะ อ.อินาชิดิ จ.อิบารากิ ประเทศญี่ปุ่นก่อนนำศพไปทิ้งอำพรางไว้ ที่ริมทะเลสาบคาซิมิงาอุระ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านที่เกิดเหตุ
         

จากนั้นต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกันผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้ร่วมกันฆ่า นางราตรี ที่บ้านเลขที่ 997 โออะซะซุ ต.มิโฮมุระ อ.อินะซิกิ จ.อิบะระกิ ด้วยการจับบีบคอจนเสียชีวิต ก่อนนำศพไปทิ้งไว้กลางป่าใกล้กับที่เกิดเหตุ  โดยเหตุฆาตกรรมดังกล่าวมีมูลเหตุมาจากการที่นายศักดิ์สมุทร,นายมังกรและนายชาตรี ไม่พอใจและเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองเป็นคนขโมยเงินจำนวน 1.5 ล้านเยนจากตู้เซฟซึ่งเป็นเงินที่ได้มาการลักทรัพย์ตู้ยอดเหรียญสาธารณะในขณะที่ทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่น  จึงได้ว่าจ้างให้ นายบุญทา เป็นผู้ลงมือ ด้วยจำนวนเงิน 3 แสนเยน เป็นผู้ลงมือก่อเหตุ        

ต่อมาตำรวจญี่ปุ่นได้ทำการจับกุมตัว  นายศักดิ์สมุทร นายมังกร และนายชาตรี ผู้ร่วมก่อเหตุได้ทั้ง 3 รายซึ่งคดีได้มีคำพิพากษาของศาลประเทศญี่ปุ่นจนถึงที่สุดแล้ว  เหลือเพียงนายนายบุญทา  ที่ได้หลบหนีออกนอกประเทศทันทีหลังจากก่อเหตุได้ไม่นาน โดยจากแนวทางการสืบสวนทราบว่านายบุญทาได้เดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539  ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดและเปลี่ยนชื่อจนได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันประจำตำบล  ต่อมาทางสำนักงานตำรวจประเทศญี่ปุ่นได้ประสานขอความร่วมมือมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังพบเบาะแสผู้ต้องหา ทางผบช.ก.จึงสั่งการให้กองบังคับการปราบปรามทำการสืบสวนจนกระทั่งพบตัว จึงรวบรวมหลักฐานร่วมกับอัยการฝ่ายต่างประเทศ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ออกหมายจับ นายบุญฤทธิ์ ในข้อหาเดียวกันกับที่ก่อเหตุในประเทศญี่ปุ่น ก่อนเข้าคุมตัวมาสอบปากคำ
         

จากการสอบสวน นายบุญทา ให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า ตนรู้จักกับผู้ตายทั้ง 2 คนจริง  เนื่องจากไปทำงานเป็นช่างเชื่อมที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยกัน แต่ระหว่างที่ทำร่วมกันนั้นยอมรับเคยมีปัญหาขัดแย้งกันจริง  แต่ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวกับการฆาตกรรมทั้งสองแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น  ก็ได้กลับมาพักอยู่ที่บ้านเกิดประกอบอาชีพทำนาตามวิถีเกษตรกรทั่วไปก่อนจะหันมาลงสมัครเลือกตั้งเป็นกำนันในปี พ.ศ.2541 จนถึงปัจจุบัน  ส่วนรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ขอไปให้การในชั้นศาล  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาก่อนนำตัวส่งศาลอาญาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป   ซึ่งคดีนี้จะหมดอายุความในเดือน มี.ค.59