ศาลสั่งจำคุก 3 ปี "แทน เทือกสุบรรณ" พร้อมพวกไม่รอลงอาญา คดีเขาแพง  ชี้ทำลายป่าสมบัติชาติ

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 21 ก.ย.)   สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org  รายงานว่า ศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษจำคุก นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชาย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ  คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ นายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล คนละ 3 ปี และให้ลงโทษจำคุก นายพงษ์ชัย ฟ้าทวีพร และนายสามารถ เรืองศรี คนละ 5 ปี ในคดีการบุกรุกที่ดินของรัฐ และป่าในพื้นที่เขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่บนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ


โดยคดีนี้ สืบเนื่องจากมีการร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีดีเอสไอ และคณะกรรมการคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ สอบสวนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 รายดังกล่าว ในข้อหา "ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่" ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าว อยู่บนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ ดังนี้


1. น.ส.3 ก.เลขที่ 3301, 3302 และ 3285 หมู่ที่ 6 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ส่วนที่ออกโดยมิชอบ 31-2-97 ไร่ โดยในส่วนนี้ได้ดำเนินคดีกับนายพงษ์ชัย และนายสามารถ และ 2.โฉนดที่ดินเลขที่ 28109 เฉพาะส่วนที่เกินจากที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 3301, 3302 และ 3285 มีการรวมแปลงเป็นโฉนดเลขที่ 28109 เป็นเนื้อที่ 14 ไร่ หมู่ที่ 6 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี


ต่อมา มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และมีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการคดีพิเศษ ซึ่งอัยการคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย กระทำความผิดตาม พรบ.ป่าไม่จริง จึงมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลอาญา และมีการต่อสู้คดีมาเป็นระยะเวลากว่า5ปี จนกระทั่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 ก.ย.2559 ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ ในคำพิพากษา ระบุว่า ป่าไม้ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ ควรที่ประชาชนจะต้องร่วมกันหวงแหนบำรุงรักษาให้อุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน มิใช่เป็นของส่วนตัวแก่ผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสี่มีผล กระทบต่อการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของ ดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม อันเป็นต้นเหตุของความแห้งแล้ง และภัยพิบัติจากน้ำป่าไหลหลาก สภาพความผิดจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และให้จำเลยทั้งสี่  คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ ออกจากที่ดินและป่าไม้ บริเวณที่เกิดเหตุ

ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา