- 02 ก.ค. 2560
เอาไว้ไม่ได้!! ไล่ออกนายทหาร แอบปลอมลายเซ็นต์เจ้ากรม ขายรถราชการเสียหายหลายล้าน
วันที่ 1 ก.ค.60 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยกรณี กรมการขนส่งทหารบก ได้ตรวจสอบพบพิรุธเกี่ยวการยื่นเอกสารการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ทหาร ที่มี บางคนไปยื่นให้ไว้กับกรมขนส่งทางบก จึงได้มีตรวจสอบเอกสารบัญชีรถประมูลขายทอดตลาด จำนวน 9 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 1,136 คัน
จากการตรวจสอบรายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสารทั้งหมด พบว่า เป็นของปลอม เช่น หมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถัง ส่วนตัวรถก็ไม่ใช้ในอัตราของกองทัพบก การลงนามของผู้มีอำนาจตามหน้าที่ในเอกสาร ก็เป็นการปลอมแปลงขึ้นมาเอง ที่สำคัญ ปัจจุบัน กรมขนส่งทหารบก ไม่ได้มีการประมูลรถขายทอดตลาดแต่อย่างใด เบื้องต้น ได้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องในทางวินัยขั้นร้ายแรงแล้ว โดยเสนอให้ปลดออกจากราชการ พร้อมกับประสานไปยัง กรมขนส่งทางบก ให้ติดตามเพิกถอนทะเบียนรถ ที่ใช้เอกสารปลอม ในการของขอจดทะเบียนรถแล้ว
ขณะที่ นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก พล.ต.สมศักดิ์ ทรัพย์อนันต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก และรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงข่าวการกวาดล้างขบวนการมิจฉาชีพ ที่แอบอ้างยื่นเอกสารเท็จรถประมูลขายทอดตลาดของ ขส.ทบ. จำนวน 605 คัน จากทั้งหมด 1,136 คัน โดยมี พ.อ.ภพกฤต พันธ์ยศ เจ้าหน้าที่ขส.ทบ.ปลอมลายเซ็นเจ้ากรมขส.ทบ.ใช้เอกสารเท็จกระจายขายและจดทะเบียนไปตามจังหวัดต่างๆ
ล่าสุด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ เผยว่า กรณีดังกล่าวทราบว่าเริ่มจาก ขส.ทบ. เป็นผู้ตรวจสอบพบมีการใช้เอกสารปลอม หรือเอกสารบัญชีรถประมูลขายทอดตลาดของ ขส.ทบ.เท็จ เพื่อนำรถของหน่วยไปขายทอดตลาดกว่า 600 คัน เบื้องต้นคดีดังกล่าว เป็นคดีการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ โดยหลักการยังไม่ถือเป็นคดีพิเศษ เพราะเข้าข่ายเป็นคดีอาญาทั่วไป แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าจะมีการเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง
ซึ่งหลังจากนี้กรมขนส่งทางบก และกรมศุลกากรจะต้องตรวจสอบรถที่นำขายทอดตลาดไปแล้วว่าเป็นรถถูกต้องตามกฎหมาย หรือรถเถื่อนหรือไม่ อันนั้นจะเข้าข่ายกรณีรถผิดกฎหมายคล้ายๆ กับคดีรถหรูที่กรมศุลกากรที่กำลังตรวจสอบร่วมกับดีเอสไอ ส่วนดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น จะต้องมีผู้เสียหายคือ ขส.ทบ.หรือกรมขนส่งทางบก มายื่นร้องทุกข์ที่ดีเอสไอ หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ตามขั้นตอน