- 11 มี.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลขณะนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาพพจน์กองทัพโดยตรง เนื่องจากมีการระบุในเพจเฟสบุ๊กของ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ว่า จะนำกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัยของไทย ไปแจ้งความเอาผิดนายทหาร ในข้อหา แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรรโชกทรัพย์
ทั้งนี้ในเฟสบุ๊ก “อนันต์ชัย ไชยเดช” ระบุข้อความไว้ดังนี้ “สู้....เพื่อความถูกต้อง ! ปกป้องงานวิจัย ที่มีศักยภาพ !
ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น.ผมจะพานักวิจัยและอาจารย์ โครงการวิจัยและพัฒนาการหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร เพื่อใช้ภายในประเทศ 4 ท่าน คือ
1.รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ (อ.อ๊อด) ม.เกษตรศาสตร์
2.ผศ.ดร.สุนทร สิทธิสกุลเจริญ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3.ผศ.ดร.กิตติภัฏ รัตนจันทร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
4.ผศ.วัชระ ลายลักษณ์ ม.เทคโนโลยี่พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ไปแจ้งความร้องทุกข์นายทหาร 2 นาย ที่กองบังคับการกองปราบปราม ข้อหา แจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา เจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรรโชกทรัพย์
(คลิกรับฟังบทสัมภาษณ์ : รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ โครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ภายในประเทศ )
ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ต. ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทีมวิจัย ประกอบด้วยนักวิชาการจากม.เกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมถึงยังมีข้าราชการทหารอีก 2 นาย ยศพันเอกและร้อยเอก สังกัดสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบกและกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก
(ขอบคุณภาพ : สำนักข่าวไทย)
ภายหลังจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการพัฒนาหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ภายในประเทศ โดยใช้งบประมาณจากโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ประจำงบประมาณปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. จำนวน 3 ล้าน 8 แสนกว่าบาท ในระยะเวลาการดำเนินการรวม 18 เดือน
แต่ภายหลังจากการตรวจสอบในเอกสารงานวิจัยพบว่ามีใบรับรองมาตรฐานสากลงานวิจัย 1 ฉบับที่สงสัยว่าอาจเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากมีการตรวจสอบในทางลับกับสถาบันที่ถูกกล่าวถึงในเอกสารที่สาธารณรัฐเช็ก ถูกปฏิเสธการรับรองงานวิจัยชิ้นดังกล่าวตามที่ระบุในเอกสาร
ดังนั้นหากโครงการดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตอย่างเต็มตัว จะต้องใช้ทุนในการผลิตและวิจัยเพิ่มเติมอีกรวมกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทัพได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์หน้ากากป้องกันสารพิษที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และอาจเป็นอันตรายต่อทหารที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่จริง จึงจำเป็นต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้กองปราบปรามตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว หากพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารจริง จะประสานไปยัง สกอ. ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของงบประมาณวิจัยเข้าแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมกับทีมวิจัยดังกล่าวด้วย