- 02 ต.ค. 2563
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก รวม 15 ราย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สืบเนื่องจากกรณีข้อร้องเรียน จากการที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน ใช้เงินงบประมาณ 16.3 ล้านบาท ดำเนินการจัดซื้อถุงน้ำใจ หรือ "แคร์เซ็ต" ให้กับผู้สูงอายุ 70 ปี ตามนโยบายป้องกันการแพร่เชื้อจากโรคระบาด โควิด-19 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่คุ้มค่าเงินงบประมาณที่จ่ายไปกับการจัดหาถุงชีพ 27,700 ชุด ชุดละ 590 บาท เนื่องจากอุปกรณ์ยังชีพต่าง ๆ ถูกประเมินว่ามีราคาไม่เหมาะสมกับมูลค่าการจัดซื้อ
กระทั่ง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้สั่งการให้ สตง. ในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว รวมถึง นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ตรวจสอบพบว่า การจัดซื้อแคร์เซตของอบจ.ลำพูน ไม่เป็นไปตามระเบียบ ช่วยเหลือประชาชนด้านสาธารณภัย ซึ่งเมื่อไม่เป็นไปตามระเบียบ จำนวนเงินทั้งหมด 16.3 ล้านนี้ จึงถือเป็นความเสียหายต่อ อบจ.ลำพูน
ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยการดำเนินการต่อข้อกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด - 19)
ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) เพื่อสนับสนุนแก่กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดต่อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) จำนวน 27,700 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิหลักประกันถ้วนหน้า (UC) ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันของทางราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสังคม โดยจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการทำความสะอาดร่างกาย จำนวน 13 รายการ
ต่อมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินจำนวน 17,174,000 บาท เพื่อดำเนินการโครงการโดยไม่มีการสืบหาราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) แต่ได้ใช้ชุดละ 590 บาท ในขั้นตอนการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ได้มีหนังสือเชิญไปยังห้าง/ร้าน จำนวน 5 แห่ง เพื่อให้เข้ามายื่นเสนอราคาในการจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ดังกล่าว โดยมีห้าง/ร้าน จำนวน 3 ราย มายื่นเสนอราคา โดยทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคาเท่ากันในราคารายละ 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท
แต่ปรากฎว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้เลือกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ได้เป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนในวงเงิน 16,343,000 บาท ขณะที่ราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) จำนวน 13 รายการ นั้น จากการสืบราคาจากห้าง/ร้าน ที่จำหน่ายสินค้าในจังหวัดลำพูน จำนวน 25 ร้านค้า พบว่าราคาเฉลี่ยชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) มีราคาเฉลี่ยเพียงชุดละ 315.55 บาท
ดังนั้นการจัดซื้อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนดังกล่าว จึงมีมูลฟังได้ว่าได้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าในท้องตลาด และทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติให้แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก รวม 18 ราย ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2563 มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก รวม 15 ราย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid - 19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ในราคาสูงเกินจริง
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหากรณีดังกล่าวแก่นายนิรันดร์ กับพวกรวม 18 ราย อย่างไรก็ดีมีเจ้าหน้าที่อบจ. 3 รายถูกกันไว้เป็นพยาน จึงมีการชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องเพียง 15 รายดังกล่าว
สำหรับรายชื่อบุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีนี้ แบ่งเป็น ชี้มูลความผิดทางอาญา และทางวินัยร้ายแรง 9 ราย ได้แก่ นายนิรันดร์ ในฐานะนายก อบจ.ลำพูน รองนายก อบจ.ลำพูน ปลัด อบจ.ลำพูน ชี้มูลความผิดทางอาญา 3 ราย ได้แก่ กลุ่มเอกชนทั้งหมด และชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง 2 ราย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ อบจ.
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญา ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยแล้ว